วันจันทร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2557

ไทลาว



ส่วนชนกลุ่มตระกูลไทที่เรียกตนว่า “ลาว” นั้นได้สถาปนาอาณาจักรที่เข้มแข็งมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 13 ร่วมสมัยเดียวกันการก่อเกิดอาณาจักรสิบสองปันนาของชาวไทลื้อ โดยมีขุนลอ เป็นปฐมกษัตริย์สถาปนาอาณาจักรล้านช้าง ณ เมืองหลวงพระบางริมแม่น้ำโขงบนชัยภูมิที่มีภูเขาล้อมรอบ เดิมหลวงพระบางมีชื่อว่าเชียงดง เชียงทอง เพราะเป็นดินแดนที่มีทองอยู่มากและยังเรียกดินแดนนี้ว่า ล้านช้าง เมื่อขุนลอได้ปราบพวกข่าแล้วก็สถาปนาเมือง ศรีสตนาคนหุตอุตมะราชธานี มงคลนามที่ตั้งตามชื่อของนาค ใหญ่ตัวหนึ่ง นามว่า “พระยาศรีสตนาค” ชาวไทลาวมีการย้ายถิ่นเข้ามาทำมาหากินและการค้าขาย ในช่วงก่อนเกิดล้านนา (อ้างอิงจากคนไทในอุษาคเนย์, ธีรภาพ โลหิตกุล)

เครื่องแต่งกาย ของกลุ่มไทยลาวในสมัยอดีต ผู้หญิงจะนุ่งผ้าซิ่นยาวปิดเข่า จะตกแต่งชายผ้าซิ่น เรียกว่า ตีนซิ่น ซึ่งนิยมตีนซิ่นสีน้ำเงินเข้ม (สีหม้อดิน) แทรกทางลงสีขาว ปกติใช้ผ้าฝ้าย หากเป็นพิธีการจะใช้ผ้าไหม เสื้อแขนกระบอกเกล้าผมมวยสูง หากมีอายุแล้วฝ่ายหญิงจะเกล้าผมมวยต่ำไว้ที่ท้ายทอย ห่มสไบทับหรือเรียกว่าผ้าเบี่ยงหรือห่มเบี่ยง ส่วนฝ่ายชายจะนุ่งกางเกงเรียกตามภาษาถิ่นว่า “โซ่ง” เป็นกางเกงยาวเหนือเข่าหรือเสมอเข่า เสื้อคอกลม ผ่าหน้าติดกระดุม แขนกระบวก ผ้าขาวม้าคาดเอว บางครั้งจะนุ่งโสร่งผ้าไหม ซึ่งมักจะเป็นงานพิธีการจะนิยมสวมใส่ผ้าไหม (เอกสารประกอบการสอนวิชาวัฒธรรมแอ่งสกลนคร)

ผ้าซิ่นแบบลาว
 
ผ้าซิ่นแบบลาวเป็นผ้าซิ่นแบบเย็บด้านเดียว ลวดลายบนตัวซิ่นเป็นลายทางยาวหรือเป็นลายมุก ตีนซิ่นเป็นผ้าพื้นธรรมดาหรือเป็นตีนจกซึ่งมีลวดลายเต็มตลอดผืนของตีนซิ่น (ล้านนา สิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรม,สุรพล ดำริห์กุล)

ชาวไทใหญ่



ภายหลังอาณาจักรพุกามเสื่อมราวพุทธศตวรรษที่ 18 (ตรงกับสมัยสุโขทัย) ดินแดนที่เป็นประเทศพม่าในปัจจุบันเกือบทั้งหมดตกอยู่ภายใต้การปกครองราชวงศ์หนึ่งนามว่า “ราชวงศ์เจ้ายูน” ซึ่งเป็นราชวงศ์ของชาวไทใหญ่ ที่มีถิ่นฐานอยู่บนที่ราบสูงฉาน หรือพื้นที่ซึ่งเป็นรัฐฉานพม่าในวันนี้และถูกปราบโดยบุเรงนองมหาราชในราวพุทธศตวรรษที่ 20  ไทใหญ่เป็นสาขาหนึ่งของกลุ่มของกลุ่มตระกูลไตหรือไท พวกเขาเรียกตนเองว่า “ไตโหลง” ซึ่งหมายถึง “ไตหลวง” อันเป็นชื่อชนชาติในทางวิชาการว่า “ไทใหญ่” พรมแดนที่แบ่งแคว้นฉานกับล้านนาไทยไม่มีเขตแดนที่แน่ชัดในอดีตกาล ชาวไทใหญ่จึงอพยพไปมาระหว่างสองฟากฝั่งแม่น้ำเมยและสาละวิน บ้างมาค้าขาย บ้างหนีสงครามมา บ้างก็เข้ามาตั้งบ้านทำมาหากินจนกลายเป็นชุมชนใหญ่ ไทยใหญ่ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณพม่า ลาวไทยและในเขต ประเทศ จีน ตอนใต้ ในประเทศไทยพบชาวไทใหญ่อยู่ในจังหวัด เชียงราย เชียงใหม่ เพชรบูรณ์และ แม่ฮ่องสอน


การแต่งกายของชาวไทใหญ่

ผู้ชายชอบไว้ผมมวยเหมือนผู้หญิง เอาผ้าสีดำ ขาว สีเขียวอ่อนปกเหลือง สีชมพูพันศีรษะ สวมหมวกปีกใหญ่อย่างโคบาลทับผ้าโพกศีรษะอีกชั้นหนึ่งเสื้อกุยเฮงยาวแขนกว้าง มีผ้าทำเป็นเชือกผูกแทนกระดุม กางเกงขากว้างก้นหย่อนสีขาวหรือดำ ทุกคนจะสะพายดาบออกจากบ้าน

ผู้หญิงจะสวมเสื้อทรงกระบอกแขนยาวรัดตัว ผ่าอกป้ายข้างมาทางรักแร้ ใช้สีอ่อนๆ ผ้านุ่งยาวถึงข้อเท้า เพราะป้องกัน ริ้น ยุงแมลงต่างๆ รบกวน ลายของผ้านุ่งเป็นลวดลายของแม่น้ำอิรวดีในประเทศพม่า ผู้หญิงไว้มวยผมโพกศีรษะ ออกจากบ้านจะมีร่มกระดาษถือติดมือไปด้วยเสมอ สวมรองเท้าที่ทำขึ้นใช้เอง มีหัวหงอนและใหญ่


ชาวไทยลื้อ



ไทลื้อ หรือ ไตลื้อ เป็นชาวไทกลุ่มหนึ่ง มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในแถบสิบสองปันนาของจีน มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นคือการใช้ภาษาไทลื้อ และยังมีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์อื่นๆ เช่น การแต่งกาย ศิลปะและประเพณีต่างๆเดิมชาวลื้อ หรือไทลื้อ มีถิ่นที่อยู่บริเวณ เมืองลื้อหลวง จีนเรียกว่า "ลือแจง" ต่อมาได้เคลื่อนย้ายลงมาอยู่บริเวณเมืองหนองแส หรือที่เรียกว่าคุนหมิงในปัจจุบัน แล้วย้ายลงมาสู่ลุ่มน้ำน้ำโขง สิบสองปันนาปัจจุบัน 

ประมาณศตวรรษที่ 12 ชาวไทลื้ออาศัยอยู่สองฝั่งแม่น้ำโขง คือ ด้านตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำ มีเมืองต่างๆ ดังนี้ภาษาไทลื้อ ได้กล่าวไว้ว่า ห้าเมิงตะวันตก หกเมิงตะวันออก รวมเจียงฮุ่ง (เชียงรุ้ง) เป็น 12 ปันนา และทั้ง 12 ปันนานั้น ยังมีเมืองน้อยอีก 32 หัวเมือง เช่น 

ฝั่งตะวันตก : เชียงรุ้ง, เมืองฮำ, เมืองแช่, เมืองลู, เมืองออง, เมืองลวง, เมืองหุน, เมืองพาน, เมืองเชียงเจิง, เมืองฮาย, เมืองเชียงลอ และเมืองมาง 

ฝั่งตะวันออก : เมืองล้า, เมืองบาง, เมืองฮิง, เมืองปาง, เมืองลา, เมืองวัง, เมืองพง, เมืองหย่วน, เมืองบาง และเมืองเชียงทอง (หลวงพระบาง) 

การขยายตัวของชาวไทยลื้อสมัยรัชกาลที่ 24 เจ้าอินเมืองได้เข้าตีเมืองแถน เชียงตุง เชียงแสน และล้านช้าง กอบกู้บ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่น พร้อมทั้งตั้งหัวเมืองไทลื้อเป็นสิบสองเขต เรียกว่า สิบสองปันนา และในยุคนี้ได้มีการอพยพชาวไทลื้อบางส่วนเพื่อไปตั้งบ้านเรือนปกครองหัวเมืองประเทศราชเหล่านั้น จึงทำให้เกิดการกระจายตัวของชาวไทลื้อ ในลุ่มน้ำโขงตอนกลาง (รัฐฉานปัจจุบัน) อันประกอบด้วยเมืองยู้ เมืองยอง เมืองหลวย เมืองเชียงแขง เมืองเชียงลาบ เมืองเลน เมืองพะยาก เมืองไฮ เมืองโก และเมืองเชียงทอง (ล้านช้าง) เมืองแถน (เดียนเบียนฟู) ชาวไทลื้อบางส่วนได้อพยพ หรือ ถูกกวาดต้อน ออกจากเมืองเหล่านี้เมื่อประมาณหนึ่งร้อยถึงสองร้อยปีที่ผ่านมา แล้วลงมาตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศตอนล่าง เช่น พม่า, ลาว และไทย 

ในสมัยรัชกาลที่ 1 เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ (เจ้าผู้ครองนครน่าน) และเจ้าสุมนเทวราช (เจ้าผู้ครองนครน่าน) ยกกองทัพขึ้นไปกวาดต้อนชาวไทลื้อจากสิบสองปันนามายังเมืองน่าน และเมืองบางส่วนในประเทศลาว และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 เจ้าสุริยะพงษ์ (เจ้าผู้ครองนครน่าน) ก็ได้ยกกองทัพขึ้นไปกวาดต้อนชาวไทลื้อจากสิบสองปันนามายังเมืองน่าน 

สำหรับในประเทศไทย มีชาวไทลื้อในหลายจังหวัดทางภาคเหนือตอนบน เช่น เชียงราย อำเภอแม่สาย อำเภอเชียงของ อำเภอเชียงแสน(ส่วนหนึ่งได้อพยพไปเมืองเชียงรุ้ง เมื่อเกิดสงครามไทยพม่า) เชียงใหม่ : อำเภอสะเมิง อำเภอดอยสะเก็ด น่าน : อำเภอท่าวังผา อำเภอปัว อำเภอ เชียงกลาง อำเภอทุ่งช้าง (มีจำนวนมากที่สุด อพยพมาจาก แขวงไชยะบุรี และ สิบสองปันนา) พะเยา : อำเภอเชียงม่วน อำเภอเชียงคำ (มีจำนวนมาก) ลำปาง : อำเภอเมือง อำเภอแม่ทะ ลำพูน : อำเภอเมือง อำเภอบ้านธิ ส่วนในต่างประเทศนั้น มีการกระจายตัวกันเกือบทุกประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เช่นใน จีน (สิบสองปันนา ซึ่งถือเป็นถิ่นฐานเดิมของไทลื้อ) รัฐฉาน ประเทศพม่า ประเทศลาว ประเทศเวียดนาม (เมืองแถน และ เมืองเดียนเบียนฟู) ก็มีการบันทึกไว้ว่ามีชาวไทลื้อ อยู่ที่นั่นด้วย 

การแต่งกาย 

ผู้ชายจะนุ่งเตี่ยวสะกอ หรือสะดอ (เป้าลึก) มัดตะเข็บหรือเตี่ยวสามดูก ไม่ใส่เสื้อ ต่อมามีการสวมเสื้อม่อฮ่อมแขนยาวถึงข้อมือ มีขอบรอยคอคล้ายเสื้อคอตั้ง ใช้เชือกผูกหรือกระดุมเชือก เสื้อและกางเกงย้อมด้วยสีครามหรือดำ โพกศีรษะด้วยผ้า เมื่อไปวัดจะมีผ้าเช็ดไว้ที่บ่า และถือถุงย่ามแดง 

ส่วนผู้หญิงจะสวมเสื้อมัดรัดรูปผ่าอก มีสาบหน้าเฉียงมาผูกติดกับด้าย หรือใช้กระดุมเม็ดขนาดใหญ่เกี่ยวกันไว้ ตัวเสื้อจะสั้น แขนเสื้อยาว ทรงกระบอกนิยมใช้สีดำหรือสีคราม ตรงสาบเสื้อจะขลิบด้วยแถบผ้าสีต่างๆ หรือทำเป็นลวดลาย นุ่งผ้าซิ่นลายขวาง การวางสีลวดลายซิ่นแบบ ซิ่นก่าน (ลักษณะของผ้าซิ่นที่มีลวดลายมัดหมี่ ซิ่นดำเติมแทรกด้วยดิ้นเงินดิ้นทอง) และซิ้นปล่อง (ลักษณะการขัดทอด้วยการเก็บลาย หรือการเก็บมุก) มีลวดลายสลับริ้วสีพื้นช่วงลายขนาดที่เท่ากัน ส่วนผมจะเกล้าเป็นมวยต่อมวย ด้วยการขดปลายผมเป็นรูปวงกลมเรียกว่าจว๊องผม แล้วโพกศีรษะด้วยผ้าขาว หรือผ้าสีชมพู และถือถุงย่าม แต่ที่เห็นได้ชัด คือ ชาวไทลื้อมักจะชอบใส่เสื้อผ้าสีดำ ทั้งชายและหญิง ซึ่งวัฒนธรรมการแต่งกายของชาวไทลื้อมีลักษณะคล้ายคลึงกับชาวล้านนา วัฒนธรรมการทอผ้าของชาวไทลื้อ 

ศิลปะที่โดดเด่นของชาวไทลื้อได้แก่ งานผ้าทอไทลื้อ นิยมใช้ผ้าฝ้าย ทอลวดลายที่เรียกว่า ลายน้ำไหล ปัจจุบันมีการฟื้นฟูและถ่ายทอดศิลปะการทอผ้าแบบไทลื้อในหลายชุมชนของภาคเหนือและสินค้าของคนไทลื้อสามารถที่จะสร้างรายได้และเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายด้วย ศิลปะที่มีความสวยงาม ประณีตและยังคงรักษาไว้ตามบรรพบุรุษ นอกจากนั้นศิลปะของชาวไทลื้อยังได้รับการถ่ายทอดทางด้านศิลปกรรม จิตกรรมและวรรณกรรม ซึงจะเห็นได้จาก วัด ซึ่งยังคงมีศิลปกรรมและจิตกรรมของชาวไทลื้ออยู่ เช่น จิตกรรมของไทลื้อที่วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน ศิลปะการฟ้อนไทลื้อ และวรรณกรรมที่ยังคงหลงเหลือจากคำบอกเล่าของชาวไทลื้อที่ได้รับการถ่ายทอดเป็นบทเพลงหรือการขับลื้อ (การขับลื้อจะเป็นการขับโดยใช้ปี่เป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะ ขับเล่าเป็นนิทาน) ซึ่งเป็นวรรณกรรมของชาวไทลื้อที่ยังคงรักษาไว้


แคว้นน่าน



ก่อนก่อตั้งอาณาจักรล้านนามีกลุ่มบ้านเมืองที่อยู่ในเขตราบลุ่มแม่น้ำน่านตอนบน เป็นแคว้นอิสระมีเมืองปัวหรือพลั่ว หรือวรนครเป็นศูนย์กลาง แคว้นน่านมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับเมืองหลวงพระบางและเมืองสุโขทัยเป็นอย่างมาก จนกระทั่งในตอนพุทธศตวรรษที่ 21 แคว้นน่านจึงถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักล้านนา(อ้างอิงจากหนังสือ แผ่นดินล้านนา, สุรพล ดำริห์กุล หน้าที่ 69-73) ผู้คนที่อยู่ในแคว้นน่านส่วนใหญ่เป็นคนพื้นเมืองเรียกตนเองว่า ไตน่าน ชาวไตน่านยังมีวัฒนธรรมการแต่งกายของสตรี คือผู้หญิงทุกคนจะต้องทอผ้าใช้เอง สวนเสื้อสีน้ำเงินจวนดำ ย้อมด้วยน้ำฮ้อม เสื้อแขนยาวผ่าอกกลาง ผ้าซิ่นมีลายริ้วนับจากบนลงล่าง ทิ้งชายเชิงดำกว้าง 1 คืบ ไว้ผมยาวข้างหลัง สวมกำไลเงินขดเป็นเกลียว สะพายถุงย่าม อันเป็นแบบโบราณของชาวเหนืออย่างแท้จริง 

 (อ้างอิงจากหนังสือ ๓๐ ชาติในเชียงราย, บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ หน้าที่ 128)

แคว้นพะเยา




เมืองพะเยาเป็นเมืองที่สำคัญอาจนับได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นโยนกมาแต่เดิม ที่ตั้งอยู่ที่ราบปลายภูเขาที่มีชื่อเรียกในตำนานว่า ภูกามยาว และเปลี่ยนมาเป็นเมืองพะเยา ในตำนานกล่าวว่า ขุนจอมธรรมผู้เป็นโอรสองค์ที่หนึ่งของกษัตริย์เมืองหิรัญเงินยางเชียงแสนซึ่งอยู่ในราชวงศ์ลวจักราชได้แยกตัวมาตั้งหลักแหล่งแห่งใหม่สร้างแคว้นพะเยาและตั้งเป็นแคว้นอิสระ ดังนั้นแคว้นพะเยากับแคว้นโยนกจึงมีความสัมพันธ์กันแบบในทางเรืองญาติ ผู้คนที่อยู่ในแคว้นพะเยาก็เป็นชนเผ่าโยนกเป็นส่วนใหญ่ 

(อ้างอิงจากหนังสือ แผ่นดินล้านนา, สุรพล ดำริห์กุล หน้าที่ 21)

แคว้นโยนก (ไทยวนหรือไทโยนก)


ตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มของแม่น้ำหลายๆ แห่งที่อยู่ตอนเนื่องกันในเขตจังหวัดเชียงรายบริเวณที่แม่น้ำสาย แม่น้ำกกและแม่น้ำอิงไหลมาบรรจบซึ่งในปัจจุบันคืออำเภอเชียงแสน อันถือว่าเป็นต้นธารแห่งการก่อเกิดอาณาจักรล้านนาและเป็นชุมชนแรกที่ชาวไท-ยวนลงหลักปักฐาน
ก่อนที่ชนเผ้าไทยวนจะมาอยู่ที่นี้บริเวณนี้เคยเป็นเมืองมาก่อน เรียกว่า เมืองสุวรรณโคมคำ ต่อมาเมือแว่นแค้วนล่มสลายไป ชนกลุ่มนี้นำโดย สิงหนวัติกุมารอพยพผู้คนมาสร้างเมืองในลุ่มแม่น้ำกก เรียกว่า เวียงโยนกนาคพันธุ์บุรีราชธานีศรีช้างแสน หรือ โยนกนคร เพราะเชื่อว่าเมืองนี้มีพญานาคมาช่วยสร้าง จนเรียกชาวไทในเวียงนี้ว่า ชาวโยนก ต่อมาเพี้ยนเสียงเป็น ชาวยวน ในที่สุด  
ต่อมาเกิดอาเพศทำให้เวียงนี้ล่มสลายกลายเป็นหนองน้ำเรียกว่า เวียงหนองล่ม และกลายเป็นทะเลสาบจนถึงทุกวันนี้ อาณาจักรใหม่ของชาวโยนกคือ หิรัญนครเงินยางเชียงแสนและเป็นจุดกำเนิดของอาณาจักล้านนา
(อ้างอิงจากหนังสือ คนไทในอษาคเนย์, ธีรภาพ โลหิตกุล หน้าที่ 119-120)
วัฒนธรรมการทอผ้าลวดลายการยกดอกนิยมทอในกลุ่มตระกูลไทยวนหรือไทโยนก ซึ่งในการทอผ้าห่ม เพราะทำให้เนื้อผ้าที่ทอหนาขึ้น ซึ่งทอผ้าห่มด้วยการยกดอกจะทอลายขนมเปียกปูน หรือลายดอกหกตะกอที่เรียกว่า ผ้าห่มตาแสงหรือผ้าห่มตะโก้ง ซึ่งใช้ฝ้ายสีแดง ดำ และขาว ทอทั้งเส้นยืนและเส้นพุ่งทำให้เป็นลายตาราง
(อ้างอิงจากหนังสือ ล้านนา สิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒธรรม, สุรพล ดำริห์กุล หน้าที่ 234)

แคว้นหริภุญไชย


แคว้นหริภุญไชยลำพูน เป็นกลุ่มบ้านเมืองที่ตั้งอยู่ในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำสำคัญสิงสายคือ แม่น้ำปิงตั้งอยู่ทางตอนใต้ของดอยสุเทพประมาณสามสิบกว่ากิโลเมตร เป็นเมืองสำคัญและเป็นศูนย์กลางของแคว้นกับแม่น้ำวังที่มีเมืองเขลางค์นครหรือลำปางเป็นส่วนหนึ่งของแคว้น แคว้นหริภุญไชยถือได้ว่าได้ว่าเป็นกลุ่มบ้านเมืองหรือรัฐแห่งแรกๆ เอกสารตามท้องถิ่นตรงกันว่า ฤาษีวาสุเทพได้สร้างเมืองหริภุญไชยขึ้นในปี พ.ศ. 1204 ครั้นอีกสองปีจึงได้ไปเชิญพระนางจามเทวีราชธิดาของเจ้าเมืองละโว้หรือลพบุรีมาครองราชสมบัติและได้อพยพคนเมืองละโว้บางส่วนมาอยู่ในเมืองหริภุญไชย แต่ในจารึกที่พบที่เมืองมโน เขตอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียวใหม่ กำหนดช่วงอายุได้ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 1310-1311 สรุปได้ว่าแคว้นหริภุญไชยนั้นมีอายุเก่าแก่ไปถึงพุทธศตวรรษที่ 13-14 ศิลปะและวัฒนธรรมของแคว้นหริภุญไชยจึงเป็นศิลปะแบบละโว้ และประชาชนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่จะเป็นชาวละโว้เชื้อสายมอญที่อพยพมาและชาวลัวะหรือระว้าซึ่งเป็นชนเผ่าเดิมที่อยู่มาก่อนแล้ว

สำหรับในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำวังนั้นถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นหริภุญไชยและมีเมืองเขลางค์นครเป็นเมืองสำคัญ ประวัติที่ปรากฏในตำนานกล่าวว่า พระสุพรหมฤาษีกับพรานป่าผู้มีชื่อว่าเขลางค์เป็นผู้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 1223 และมอบให้เจ้าอินทวรหรือเจ้าอนันตยศ พระโอรสองค์แรกของพระนางจามเทวีครอบครองเมืองเขลางค์นครเป็นเมืองฐานะลูกหลวงและสำคัญรองลงมาจากเมืองหริภุญไชย (อ้างอิงจากหังสือ แผ่นดินล้านนา, สุรพล ดำริห์กุล หน้าที่ 12-17) การแต่งกายของชาวหริภุญไชย ประชากรส่วนใหญ่มีเชื้อสายมอญ (ทางเหนือเรียกว่า “เม็ง”) และชาวลัวะหรือระว้า ดังนั้นการการแต่งกายของชาวหริภุญไชย ชายนิยมนุ่งผ้านุ่งสีพื้นไม่สวมเสื้อ มีรอยสักบริเวณต้นขา ผู้หญิงนุ่งซิ่นสีพื้นถ้าในช่วงงานพิธีกรรมก็จะนุ่งซิ่นมีลายขวางบนตัวซิ่น มีผ้าสไบสีพื้นพันอกไว้ แต่ถ้าเวลาทำงานปกติไม่นิยมพันผ้าสไบมีแต่นุ่งซิ่นเท่านั้น ผมไว้ยาวทั้งชายและหญิงผู้ชายนิยมโพกศีรษะ

(อ้างอิงจากหนังสือ 30 ชาติในเชียงราย, บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ หน้าที่ 179 -183)