วันจันทร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2557

ชาวไทยลื้อ



ไทลื้อ หรือ ไตลื้อ เป็นชาวไทกลุ่มหนึ่ง มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในแถบสิบสองปันนาของจีน มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นคือการใช้ภาษาไทลื้อ และยังมีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์อื่นๆ เช่น การแต่งกาย ศิลปะและประเพณีต่างๆเดิมชาวลื้อ หรือไทลื้อ มีถิ่นที่อยู่บริเวณ เมืองลื้อหลวง จีนเรียกว่า "ลือแจง" ต่อมาได้เคลื่อนย้ายลงมาอยู่บริเวณเมืองหนองแส หรือที่เรียกว่าคุนหมิงในปัจจุบัน แล้วย้ายลงมาสู่ลุ่มน้ำน้ำโขง สิบสองปันนาปัจจุบัน 

ประมาณศตวรรษที่ 12 ชาวไทลื้ออาศัยอยู่สองฝั่งแม่น้ำโขง คือ ด้านตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำ มีเมืองต่างๆ ดังนี้ภาษาไทลื้อ ได้กล่าวไว้ว่า ห้าเมิงตะวันตก หกเมิงตะวันออก รวมเจียงฮุ่ง (เชียงรุ้ง) เป็น 12 ปันนา และทั้ง 12 ปันนานั้น ยังมีเมืองน้อยอีก 32 หัวเมือง เช่น 

ฝั่งตะวันตก : เชียงรุ้ง, เมืองฮำ, เมืองแช่, เมืองลู, เมืองออง, เมืองลวง, เมืองหุน, เมืองพาน, เมืองเชียงเจิง, เมืองฮาย, เมืองเชียงลอ และเมืองมาง 

ฝั่งตะวันออก : เมืองล้า, เมืองบาง, เมืองฮิง, เมืองปาง, เมืองลา, เมืองวัง, เมืองพง, เมืองหย่วน, เมืองบาง และเมืองเชียงทอง (หลวงพระบาง) 

การขยายตัวของชาวไทยลื้อสมัยรัชกาลที่ 24 เจ้าอินเมืองได้เข้าตีเมืองแถน เชียงตุง เชียงแสน และล้านช้าง กอบกู้บ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่น พร้อมทั้งตั้งหัวเมืองไทลื้อเป็นสิบสองเขต เรียกว่า สิบสองปันนา และในยุคนี้ได้มีการอพยพชาวไทลื้อบางส่วนเพื่อไปตั้งบ้านเรือนปกครองหัวเมืองประเทศราชเหล่านั้น จึงทำให้เกิดการกระจายตัวของชาวไทลื้อ ในลุ่มน้ำโขงตอนกลาง (รัฐฉานปัจจุบัน) อันประกอบด้วยเมืองยู้ เมืองยอง เมืองหลวย เมืองเชียงแขง เมืองเชียงลาบ เมืองเลน เมืองพะยาก เมืองไฮ เมืองโก และเมืองเชียงทอง (ล้านช้าง) เมืองแถน (เดียนเบียนฟู) ชาวไทลื้อบางส่วนได้อพยพ หรือ ถูกกวาดต้อน ออกจากเมืองเหล่านี้เมื่อประมาณหนึ่งร้อยถึงสองร้อยปีที่ผ่านมา แล้วลงมาตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศตอนล่าง เช่น พม่า, ลาว และไทย 

ในสมัยรัชกาลที่ 1 เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ (เจ้าผู้ครองนครน่าน) และเจ้าสุมนเทวราช (เจ้าผู้ครองนครน่าน) ยกกองทัพขึ้นไปกวาดต้อนชาวไทลื้อจากสิบสองปันนามายังเมืองน่าน และเมืองบางส่วนในประเทศลาว และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 เจ้าสุริยะพงษ์ (เจ้าผู้ครองนครน่าน) ก็ได้ยกกองทัพขึ้นไปกวาดต้อนชาวไทลื้อจากสิบสองปันนามายังเมืองน่าน 

สำหรับในประเทศไทย มีชาวไทลื้อในหลายจังหวัดทางภาคเหนือตอนบน เช่น เชียงราย อำเภอแม่สาย อำเภอเชียงของ อำเภอเชียงแสน(ส่วนหนึ่งได้อพยพไปเมืองเชียงรุ้ง เมื่อเกิดสงครามไทยพม่า) เชียงใหม่ : อำเภอสะเมิง อำเภอดอยสะเก็ด น่าน : อำเภอท่าวังผา อำเภอปัว อำเภอ เชียงกลาง อำเภอทุ่งช้าง (มีจำนวนมากที่สุด อพยพมาจาก แขวงไชยะบุรี และ สิบสองปันนา) พะเยา : อำเภอเชียงม่วน อำเภอเชียงคำ (มีจำนวนมาก) ลำปาง : อำเภอเมือง อำเภอแม่ทะ ลำพูน : อำเภอเมือง อำเภอบ้านธิ ส่วนในต่างประเทศนั้น มีการกระจายตัวกันเกือบทุกประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เช่นใน จีน (สิบสองปันนา ซึ่งถือเป็นถิ่นฐานเดิมของไทลื้อ) รัฐฉาน ประเทศพม่า ประเทศลาว ประเทศเวียดนาม (เมืองแถน และ เมืองเดียนเบียนฟู) ก็มีการบันทึกไว้ว่ามีชาวไทลื้อ อยู่ที่นั่นด้วย 

การแต่งกาย 

ผู้ชายจะนุ่งเตี่ยวสะกอ หรือสะดอ (เป้าลึก) มัดตะเข็บหรือเตี่ยวสามดูก ไม่ใส่เสื้อ ต่อมามีการสวมเสื้อม่อฮ่อมแขนยาวถึงข้อมือ มีขอบรอยคอคล้ายเสื้อคอตั้ง ใช้เชือกผูกหรือกระดุมเชือก เสื้อและกางเกงย้อมด้วยสีครามหรือดำ โพกศีรษะด้วยผ้า เมื่อไปวัดจะมีผ้าเช็ดไว้ที่บ่า และถือถุงย่ามแดง 

ส่วนผู้หญิงจะสวมเสื้อมัดรัดรูปผ่าอก มีสาบหน้าเฉียงมาผูกติดกับด้าย หรือใช้กระดุมเม็ดขนาดใหญ่เกี่ยวกันไว้ ตัวเสื้อจะสั้น แขนเสื้อยาว ทรงกระบอกนิยมใช้สีดำหรือสีคราม ตรงสาบเสื้อจะขลิบด้วยแถบผ้าสีต่างๆ หรือทำเป็นลวดลาย นุ่งผ้าซิ่นลายขวาง การวางสีลวดลายซิ่นแบบ ซิ่นก่าน (ลักษณะของผ้าซิ่นที่มีลวดลายมัดหมี่ ซิ่นดำเติมแทรกด้วยดิ้นเงินดิ้นทอง) และซิ้นปล่อง (ลักษณะการขัดทอด้วยการเก็บลาย หรือการเก็บมุก) มีลวดลายสลับริ้วสีพื้นช่วงลายขนาดที่เท่ากัน ส่วนผมจะเกล้าเป็นมวยต่อมวย ด้วยการขดปลายผมเป็นรูปวงกลมเรียกว่าจว๊องผม แล้วโพกศีรษะด้วยผ้าขาว หรือผ้าสีชมพู และถือถุงย่าม แต่ที่เห็นได้ชัด คือ ชาวไทลื้อมักจะชอบใส่เสื้อผ้าสีดำ ทั้งชายและหญิง ซึ่งวัฒนธรรมการแต่งกายของชาวไทลื้อมีลักษณะคล้ายคลึงกับชาวล้านนา วัฒนธรรมการทอผ้าของชาวไทลื้อ 

ศิลปะที่โดดเด่นของชาวไทลื้อได้แก่ งานผ้าทอไทลื้อ นิยมใช้ผ้าฝ้าย ทอลวดลายที่เรียกว่า ลายน้ำไหล ปัจจุบันมีการฟื้นฟูและถ่ายทอดศิลปะการทอผ้าแบบไทลื้อในหลายชุมชนของภาคเหนือและสินค้าของคนไทลื้อสามารถที่จะสร้างรายได้และเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายด้วย ศิลปะที่มีความสวยงาม ประณีตและยังคงรักษาไว้ตามบรรพบุรุษ นอกจากนั้นศิลปะของชาวไทลื้อยังได้รับการถ่ายทอดทางด้านศิลปกรรม จิตกรรมและวรรณกรรม ซึงจะเห็นได้จาก วัด ซึ่งยังคงมีศิลปกรรมและจิตกรรมของชาวไทลื้ออยู่ เช่น จิตกรรมของไทลื้อที่วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน ศิลปะการฟ้อนไทลื้อ และวรรณกรรมที่ยังคงหลงเหลือจากคำบอกเล่าของชาวไทลื้อที่ได้รับการถ่ายทอดเป็นบทเพลงหรือการขับลื้อ (การขับลื้อจะเป็นการขับโดยใช้ปี่เป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะ ขับเล่าเป็นนิทาน) ซึ่งเป็นวรรณกรรมของชาวไทลื้อที่ยังคงรักษาไว้


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น