วันจันทร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2557

ไทลาว



ส่วนชนกลุ่มตระกูลไทที่เรียกตนว่า “ลาว” นั้นได้สถาปนาอาณาจักรที่เข้มแข็งมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 13 ร่วมสมัยเดียวกันการก่อเกิดอาณาจักรสิบสองปันนาของชาวไทลื้อ โดยมีขุนลอ เป็นปฐมกษัตริย์สถาปนาอาณาจักรล้านช้าง ณ เมืองหลวงพระบางริมแม่น้ำโขงบนชัยภูมิที่มีภูเขาล้อมรอบ เดิมหลวงพระบางมีชื่อว่าเชียงดง เชียงทอง เพราะเป็นดินแดนที่มีทองอยู่มากและยังเรียกดินแดนนี้ว่า ล้านช้าง เมื่อขุนลอได้ปราบพวกข่าแล้วก็สถาปนาเมือง ศรีสตนาคนหุตอุตมะราชธานี มงคลนามที่ตั้งตามชื่อของนาค ใหญ่ตัวหนึ่ง นามว่า “พระยาศรีสตนาค” ชาวไทลาวมีการย้ายถิ่นเข้ามาทำมาหากินและการค้าขาย ในช่วงก่อนเกิดล้านนา (อ้างอิงจากคนไทในอุษาคเนย์, ธีรภาพ โลหิตกุล)

เครื่องแต่งกาย ของกลุ่มไทยลาวในสมัยอดีต ผู้หญิงจะนุ่งผ้าซิ่นยาวปิดเข่า จะตกแต่งชายผ้าซิ่น เรียกว่า ตีนซิ่น ซึ่งนิยมตีนซิ่นสีน้ำเงินเข้ม (สีหม้อดิน) แทรกทางลงสีขาว ปกติใช้ผ้าฝ้าย หากเป็นพิธีการจะใช้ผ้าไหม เสื้อแขนกระบอกเกล้าผมมวยสูง หากมีอายุแล้วฝ่ายหญิงจะเกล้าผมมวยต่ำไว้ที่ท้ายทอย ห่มสไบทับหรือเรียกว่าผ้าเบี่ยงหรือห่มเบี่ยง ส่วนฝ่ายชายจะนุ่งกางเกงเรียกตามภาษาถิ่นว่า “โซ่ง” เป็นกางเกงยาวเหนือเข่าหรือเสมอเข่า เสื้อคอกลม ผ่าหน้าติดกระดุม แขนกระบวก ผ้าขาวม้าคาดเอว บางครั้งจะนุ่งโสร่งผ้าไหม ซึ่งมักจะเป็นงานพิธีการจะนิยมสวมใส่ผ้าไหม (เอกสารประกอบการสอนวิชาวัฒธรรมแอ่งสกลนคร)

ผ้าซิ่นแบบลาว
 
ผ้าซิ่นแบบลาวเป็นผ้าซิ่นแบบเย็บด้านเดียว ลวดลายบนตัวซิ่นเป็นลายทางยาวหรือเป็นลายมุก ตีนซิ่นเป็นผ้าพื้นธรรมดาหรือเป็นตีนจกซึ่งมีลวดลายเต็มตลอดผืนของตีนซิ่น (ล้านนา สิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรม,สุรพล ดำริห์กุล)

ชาวไทใหญ่



ภายหลังอาณาจักรพุกามเสื่อมราวพุทธศตวรรษที่ 18 (ตรงกับสมัยสุโขทัย) ดินแดนที่เป็นประเทศพม่าในปัจจุบันเกือบทั้งหมดตกอยู่ภายใต้การปกครองราชวงศ์หนึ่งนามว่า “ราชวงศ์เจ้ายูน” ซึ่งเป็นราชวงศ์ของชาวไทใหญ่ ที่มีถิ่นฐานอยู่บนที่ราบสูงฉาน หรือพื้นที่ซึ่งเป็นรัฐฉานพม่าในวันนี้และถูกปราบโดยบุเรงนองมหาราชในราวพุทธศตวรรษที่ 20  ไทใหญ่เป็นสาขาหนึ่งของกลุ่มของกลุ่มตระกูลไตหรือไท พวกเขาเรียกตนเองว่า “ไตโหลง” ซึ่งหมายถึง “ไตหลวง” อันเป็นชื่อชนชาติในทางวิชาการว่า “ไทใหญ่” พรมแดนที่แบ่งแคว้นฉานกับล้านนาไทยไม่มีเขตแดนที่แน่ชัดในอดีตกาล ชาวไทใหญ่จึงอพยพไปมาระหว่างสองฟากฝั่งแม่น้ำเมยและสาละวิน บ้างมาค้าขาย บ้างหนีสงครามมา บ้างก็เข้ามาตั้งบ้านทำมาหากินจนกลายเป็นชุมชนใหญ่ ไทยใหญ่ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณพม่า ลาวไทยและในเขต ประเทศ จีน ตอนใต้ ในประเทศไทยพบชาวไทใหญ่อยู่ในจังหวัด เชียงราย เชียงใหม่ เพชรบูรณ์และ แม่ฮ่องสอน


การแต่งกายของชาวไทใหญ่

ผู้ชายชอบไว้ผมมวยเหมือนผู้หญิง เอาผ้าสีดำ ขาว สีเขียวอ่อนปกเหลือง สีชมพูพันศีรษะ สวมหมวกปีกใหญ่อย่างโคบาลทับผ้าโพกศีรษะอีกชั้นหนึ่งเสื้อกุยเฮงยาวแขนกว้าง มีผ้าทำเป็นเชือกผูกแทนกระดุม กางเกงขากว้างก้นหย่อนสีขาวหรือดำ ทุกคนจะสะพายดาบออกจากบ้าน

ผู้หญิงจะสวมเสื้อทรงกระบอกแขนยาวรัดตัว ผ่าอกป้ายข้างมาทางรักแร้ ใช้สีอ่อนๆ ผ้านุ่งยาวถึงข้อเท้า เพราะป้องกัน ริ้น ยุงแมลงต่างๆ รบกวน ลายของผ้านุ่งเป็นลวดลายของแม่น้ำอิรวดีในประเทศพม่า ผู้หญิงไว้มวยผมโพกศีรษะ ออกจากบ้านจะมีร่มกระดาษถือติดมือไปด้วยเสมอ สวมรองเท้าที่ทำขึ้นใช้เอง มีหัวหงอนและใหญ่


ชาวไทยลื้อ



ไทลื้อ หรือ ไตลื้อ เป็นชาวไทกลุ่มหนึ่ง มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในแถบสิบสองปันนาของจีน มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นคือการใช้ภาษาไทลื้อ และยังมีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์อื่นๆ เช่น การแต่งกาย ศิลปะและประเพณีต่างๆเดิมชาวลื้อ หรือไทลื้อ มีถิ่นที่อยู่บริเวณ เมืองลื้อหลวง จีนเรียกว่า "ลือแจง" ต่อมาได้เคลื่อนย้ายลงมาอยู่บริเวณเมืองหนองแส หรือที่เรียกว่าคุนหมิงในปัจจุบัน แล้วย้ายลงมาสู่ลุ่มน้ำน้ำโขง สิบสองปันนาปัจจุบัน 

ประมาณศตวรรษที่ 12 ชาวไทลื้ออาศัยอยู่สองฝั่งแม่น้ำโขง คือ ด้านตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำ มีเมืองต่างๆ ดังนี้ภาษาไทลื้อ ได้กล่าวไว้ว่า ห้าเมิงตะวันตก หกเมิงตะวันออก รวมเจียงฮุ่ง (เชียงรุ้ง) เป็น 12 ปันนา และทั้ง 12 ปันนานั้น ยังมีเมืองน้อยอีก 32 หัวเมือง เช่น 

ฝั่งตะวันตก : เชียงรุ้ง, เมืองฮำ, เมืองแช่, เมืองลู, เมืองออง, เมืองลวง, เมืองหุน, เมืองพาน, เมืองเชียงเจิง, เมืองฮาย, เมืองเชียงลอ และเมืองมาง 

ฝั่งตะวันออก : เมืองล้า, เมืองบาง, เมืองฮิง, เมืองปาง, เมืองลา, เมืองวัง, เมืองพง, เมืองหย่วน, เมืองบาง และเมืองเชียงทอง (หลวงพระบาง) 

การขยายตัวของชาวไทยลื้อสมัยรัชกาลที่ 24 เจ้าอินเมืองได้เข้าตีเมืองแถน เชียงตุง เชียงแสน และล้านช้าง กอบกู้บ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่น พร้อมทั้งตั้งหัวเมืองไทลื้อเป็นสิบสองเขต เรียกว่า สิบสองปันนา และในยุคนี้ได้มีการอพยพชาวไทลื้อบางส่วนเพื่อไปตั้งบ้านเรือนปกครองหัวเมืองประเทศราชเหล่านั้น จึงทำให้เกิดการกระจายตัวของชาวไทลื้อ ในลุ่มน้ำโขงตอนกลาง (รัฐฉานปัจจุบัน) อันประกอบด้วยเมืองยู้ เมืองยอง เมืองหลวย เมืองเชียงแขง เมืองเชียงลาบ เมืองเลน เมืองพะยาก เมืองไฮ เมืองโก และเมืองเชียงทอง (ล้านช้าง) เมืองแถน (เดียนเบียนฟู) ชาวไทลื้อบางส่วนได้อพยพ หรือ ถูกกวาดต้อน ออกจากเมืองเหล่านี้เมื่อประมาณหนึ่งร้อยถึงสองร้อยปีที่ผ่านมา แล้วลงมาตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศตอนล่าง เช่น พม่า, ลาว และไทย 

ในสมัยรัชกาลที่ 1 เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ (เจ้าผู้ครองนครน่าน) และเจ้าสุมนเทวราช (เจ้าผู้ครองนครน่าน) ยกกองทัพขึ้นไปกวาดต้อนชาวไทลื้อจากสิบสองปันนามายังเมืองน่าน และเมืองบางส่วนในประเทศลาว และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 เจ้าสุริยะพงษ์ (เจ้าผู้ครองนครน่าน) ก็ได้ยกกองทัพขึ้นไปกวาดต้อนชาวไทลื้อจากสิบสองปันนามายังเมืองน่าน 

สำหรับในประเทศไทย มีชาวไทลื้อในหลายจังหวัดทางภาคเหนือตอนบน เช่น เชียงราย อำเภอแม่สาย อำเภอเชียงของ อำเภอเชียงแสน(ส่วนหนึ่งได้อพยพไปเมืองเชียงรุ้ง เมื่อเกิดสงครามไทยพม่า) เชียงใหม่ : อำเภอสะเมิง อำเภอดอยสะเก็ด น่าน : อำเภอท่าวังผา อำเภอปัว อำเภอ เชียงกลาง อำเภอทุ่งช้าง (มีจำนวนมากที่สุด อพยพมาจาก แขวงไชยะบุรี และ สิบสองปันนา) พะเยา : อำเภอเชียงม่วน อำเภอเชียงคำ (มีจำนวนมาก) ลำปาง : อำเภอเมือง อำเภอแม่ทะ ลำพูน : อำเภอเมือง อำเภอบ้านธิ ส่วนในต่างประเทศนั้น มีการกระจายตัวกันเกือบทุกประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เช่นใน จีน (สิบสองปันนา ซึ่งถือเป็นถิ่นฐานเดิมของไทลื้อ) รัฐฉาน ประเทศพม่า ประเทศลาว ประเทศเวียดนาม (เมืองแถน และ เมืองเดียนเบียนฟู) ก็มีการบันทึกไว้ว่ามีชาวไทลื้อ อยู่ที่นั่นด้วย 

การแต่งกาย 

ผู้ชายจะนุ่งเตี่ยวสะกอ หรือสะดอ (เป้าลึก) มัดตะเข็บหรือเตี่ยวสามดูก ไม่ใส่เสื้อ ต่อมามีการสวมเสื้อม่อฮ่อมแขนยาวถึงข้อมือ มีขอบรอยคอคล้ายเสื้อคอตั้ง ใช้เชือกผูกหรือกระดุมเชือก เสื้อและกางเกงย้อมด้วยสีครามหรือดำ โพกศีรษะด้วยผ้า เมื่อไปวัดจะมีผ้าเช็ดไว้ที่บ่า และถือถุงย่ามแดง 

ส่วนผู้หญิงจะสวมเสื้อมัดรัดรูปผ่าอก มีสาบหน้าเฉียงมาผูกติดกับด้าย หรือใช้กระดุมเม็ดขนาดใหญ่เกี่ยวกันไว้ ตัวเสื้อจะสั้น แขนเสื้อยาว ทรงกระบอกนิยมใช้สีดำหรือสีคราม ตรงสาบเสื้อจะขลิบด้วยแถบผ้าสีต่างๆ หรือทำเป็นลวดลาย นุ่งผ้าซิ่นลายขวาง การวางสีลวดลายซิ่นแบบ ซิ่นก่าน (ลักษณะของผ้าซิ่นที่มีลวดลายมัดหมี่ ซิ่นดำเติมแทรกด้วยดิ้นเงินดิ้นทอง) และซิ้นปล่อง (ลักษณะการขัดทอด้วยการเก็บลาย หรือการเก็บมุก) มีลวดลายสลับริ้วสีพื้นช่วงลายขนาดที่เท่ากัน ส่วนผมจะเกล้าเป็นมวยต่อมวย ด้วยการขดปลายผมเป็นรูปวงกลมเรียกว่าจว๊องผม แล้วโพกศีรษะด้วยผ้าขาว หรือผ้าสีชมพู และถือถุงย่าม แต่ที่เห็นได้ชัด คือ ชาวไทลื้อมักจะชอบใส่เสื้อผ้าสีดำ ทั้งชายและหญิง ซึ่งวัฒนธรรมการแต่งกายของชาวไทลื้อมีลักษณะคล้ายคลึงกับชาวล้านนา วัฒนธรรมการทอผ้าของชาวไทลื้อ 

ศิลปะที่โดดเด่นของชาวไทลื้อได้แก่ งานผ้าทอไทลื้อ นิยมใช้ผ้าฝ้าย ทอลวดลายที่เรียกว่า ลายน้ำไหล ปัจจุบันมีการฟื้นฟูและถ่ายทอดศิลปะการทอผ้าแบบไทลื้อในหลายชุมชนของภาคเหนือและสินค้าของคนไทลื้อสามารถที่จะสร้างรายได้และเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายด้วย ศิลปะที่มีความสวยงาม ประณีตและยังคงรักษาไว้ตามบรรพบุรุษ นอกจากนั้นศิลปะของชาวไทลื้อยังได้รับการถ่ายทอดทางด้านศิลปกรรม จิตกรรมและวรรณกรรม ซึงจะเห็นได้จาก วัด ซึ่งยังคงมีศิลปกรรมและจิตกรรมของชาวไทลื้ออยู่ เช่น จิตกรรมของไทลื้อที่วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน ศิลปะการฟ้อนไทลื้อ และวรรณกรรมที่ยังคงหลงเหลือจากคำบอกเล่าของชาวไทลื้อที่ได้รับการถ่ายทอดเป็นบทเพลงหรือการขับลื้อ (การขับลื้อจะเป็นการขับโดยใช้ปี่เป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะ ขับเล่าเป็นนิทาน) ซึ่งเป็นวรรณกรรมของชาวไทลื้อที่ยังคงรักษาไว้


แคว้นน่าน



ก่อนก่อตั้งอาณาจักรล้านนามีกลุ่มบ้านเมืองที่อยู่ในเขตราบลุ่มแม่น้ำน่านตอนบน เป็นแคว้นอิสระมีเมืองปัวหรือพลั่ว หรือวรนครเป็นศูนย์กลาง แคว้นน่านมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับเมืองหลวงพระบางและเมืองสุโขทัยเป็นอย่างมาก จนกระทั่งในตอนพุทธศตวรรษที่ 21 แคว้นน่านจึงถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักล้านนา(อ้างอิงจากหนังสือ แผ่นดินล้านนา, สุรพล ดำริห์กุล หน้าที่ 69-73) ผู้คนที่อยู่ในแคว้นน่านส่วนใหญ่เป็นคนพื้นเมืองเรียกตนเองว่า ไตน่าน ชาวไตน่านยังมีวัฒนธรรมการแต่งกายของสตรี คือผู้หญิงทุกคนจะต้องทอผ้าใช้เอง สวนเสื้อสีน้ำเงินจวนดำ ย้อมด้วยน้ำฮ้อม เสื้อแขนยาวผ่าอกกลาง ผ้าซิ่นมีลายริ้วนับจากบนลงล่าง ทิ้งชายเชิงดำกว้าง 1 คืบ ไว้ผมยาวข้างหลัง สวมกำไลเงินขดเป็นเกลียว สะพายถุงย่าม อันเป็นแบบโบราณของชาวเหนืออย่างแท้จริง 

 (อ้างอิงจากหนังสือ ๓๐ ชาติในเชียงราย, บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ หน้าที่ 128)

แคว้นพะเยา




เมืองพะเยาเป็นเมืองที่สำคัญอาจนับได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นโยนกมาแต่เดิม ที่ตั้งอยู่ที่ราบปลายภูเขาที่มีชื่อเรียกในตำนานว่า ภูกามยาว และเปลี่ยนมาเป็นเมืองพะเยา ในตำนานกล่าวว่า ขุนจอมธรรมผู้เป็นโอรสองค์ที่หนึ่งของกษัตริย์เมืองหิรัญเงินยางเชียงแสนซึ่งอยู่ในราชวงศ์ลวจักราชได้แยกตัวมาตั้งหลักแหล่งแห่งใหม่สร้างแคว้นพะเยาและตั้งเป็นแคว้นอิสระ ดังนั้นแคว้นพะเยากับแคว้นโยนกจึงมีความสัมพันธ์กันแบบในทางเรืองญาติ ผู้คนที่อยู่ในแคว้นพะเยาก็เป็นชนเผ่าโยนกเป็นส่วนใหญ่ 

(อ้างอิงจากหนังสือ แผ่นดินล้านนา, สุรพล ดำริห์กุล หน้าที่ 21)

แคว้นโยนก (ไทยวนหรือไทโยนก)


ตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มของแม่น้ำหลายๆ แห่งที่อยู่ตอนเนื่องกันในเขตจังหวัดเชียงรายบริเวณที่แม่น้ำสาย แม่น้ำกกและแม่น้ำอิงไหลมาบรรจบซึ่งในปัจจุบันคืออำเภอเชียงแสน อันถือว่าเป็นต้นธารแห่งการก่อเกิดอาณาจักรล้านนาและเป็นชุมชนแรกที่ชาวไท-ยวนลงหลักปักฐาน
ก่อนที่ชนเผ้าไทยวนจะมาอยู่ที่นี้บริเวณนี้เคยเป็นเมืองมาก่อน เรียกว่า เมืองสุวรรณโคมคำ ต่อมาเมือแว่นแค้วนล่มสลายไป ชนกลุ่มนี้นำโดย สิงหนวัติกุมารอพยพผู้คนมาสร้างเมืองในลุ่มแม่น้ำกก เรียกว่า เวียงโยนกนาคพันธุ์บุรีราชธานีศรีช้างแสน หรือ โยนกนคร เพราะเชื่อว่าเมืองนี้มีพญานาคมาช่วยสร้าง จนเรียกชาวไทในเวียงนี้ว่า ชาวโยนก ต่อมาเพี้ยนเสียงเป็น ชาวยวน ในที่สุด  
ต่อมาเกิดอาเพศทำให้เวียงนี้ล่มสลายกลายเป็นหนองน้ำเรียกว่า เวียงหนองล่ม และกลายเป็นทะเลสาบจนถึงทุกวันนี้ อาณาจักรใหม่ของชาวโยนกคือ หิรัญนครเงินยางเชียงแสนและเป็นจุดกำเนิดของอาณาจักล้านนา
(อ้างอิงจากหนังสือ คนไทในอษาคเนย์, ธีรภาพ โลหิตกุล หน้าที่ 119-120)
วัฒนธรรมการทอผ้าลวดลายการยกดอกนิยมทอในกลุ่มตระกูลไทยวนหรือไทโยนก ซึ่งในการทอผ้าห่ม เพราะทำให้เนื้อผ้าที่ทอหนาขึ้น ซึ่งทอผ้าห่มด้วยการยกดอกจะทอลายขนมเปียกปูน หรือลายดอกหกตะกอที่เรียกว่า ผ้าห่มตาแสงหรือผ้าห่มตะโก้ง ซึ่งใช้ฝ้ายสีแดง ดำ และขาว ทอทั้งเส้นยืนและเส้นพุ่งทำให้เป็นลายตาราง
(อ้างอิงจากหนังสือ ล้านนา สิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒธรรม, สุรพล ดำริห์กุล หน้าที่ 234)

แคว้นหริภุญไชย


แคว้นหริภุญไชยลำพูน เป็นกลุ่มบ้านเมืองที่ตั้งอยู่ในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำสำคัญสิงสายคือ แม่น้ำปิงตั้งอยู่ทางตอนใต้ของดอยสุเทพประมาณสามสิบกว่ากิโลเมตร เป็นเมืองสำคัญและเป็นศูนย์กลางของแคว้นกับแม่น้ำวังที่มีเมืองเขลางค์นครหรือลำปางเป็นส่วนหนึ่งของแคว้น แคว้นหริภุญไชยถือได้ว่าได้ว่าเป็นกลุ่มบ้านเมืองหรือรัฐแห่งแรกๆ เอกสารตามท้องถิ่นตรงกันว่า ฤาษีวาสุเทพได้สร้างเมืองหริภุญไชยขึ้นในปี พ.ศ. 1204 ครั้นอีกสองปีจึงได้ไปเชิญพระนางจามเทวีราชธิดาของเจ้าเมืองละโว้หรือลพบุรีมาครองราชสมบัติและได้อพยพคนเมืองละโว้บางส่วนมาอยู่ในเมืองหริภุญไชย แต่ในจารึกที่พบที่เมืองมโน เขตอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียวใหม่ กำหนดช่วงอายุได้ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 1310-1311 สรุปได้ว่าแคว้นหริภุญไชยนั้นมีอายุเก่าแก่ไปถึงพุทธศตวรรษที่ 13-14 ศิลปะและวัฒนธรรมของแคว้นหริภุญไชยจึงเป็นศิลปะแบบละโว้ และประชาชนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่จะเป็นชาวละโว้เชื้อสายมอญที่อพยพมาและชาวลัวะหรือระว้าซึ่งเป็นชนเผ่าเดิมที่อยู่มาก่อนแล้ว

สำหรับในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำวังนั้นถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นหริภุญไชยและมีเมืองเขลางค์นครเป็นเมืองสำคัญ ประวัติที่ปรากฏในตำนานกล่าวว่า พระสุพรหมฤาษีกับพรานป่าผู้มีชื่อว่าเขลางค์เป็นผู้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 1223 และมอบให้เจ้าอินทวรหรือเจ้าอนันตยศ พระโอรสองค์แรกของพระนางจามเทวีครอบครองเมืองเขลางค์นครเป็นเมืองฐานะลูกหลวงและสำคัญรองลงมาจากเมืองหริภุญไชย (อ้างอิงจากหังสือ แผ่นดินล้านนา, สุรพล ดำริห์กุล หน้าที่ 12-17) การแต่งกายของชาวหริภุญไชย ประชากรส่วนใหญ่มีเชื้อสายมอญ (ทางเหนือเรียกว่า “เม็ง”) และชาวลัวะหรือระว้า ดังนั้นการการแต่งกายของชาวหริภุญไชย ชายนิยมนุ่งผ้านุ่งสีพื้นไม่สวมเสื้อ มีรอยสักบริเวณต้นขา ผู้หญิงนุ่งซิ่นสีพื้นถ้าในช่วงงานพิธีกรรมก็จะนุ่งซิ่นมีลายขวางบนตัวซิ่น มีผ้าสไบสีพื้นพันอกไว้ แต่ถ้าเวลาทำงานปกติไม่นิยมพันผ้าสไบมีแต่นุ่งซิ่นเท่านั้น ผมไว้ยาวทั้งชายและหญิงผู้ชายนิยมโพกศีรษะ

(อ้างอิงจากหนังสือ 30 ชาติในเชียงราย, บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ หน้าที่ 179 -183)

ยุคก่อนอาณาจักรล้านนา




ก่อนการก่อตั้งอาณาจักรล้านนาตอนต้นพุทธศตวรรษที่ 19 นั้นได้พบว่ามีกลุ่มบ้านเมืองเกิดขึ้นอยู่แล้ว โดยกระจายอยู่ตามที่ลุ่มแม่น้ำสายต่างๆ ซึ่งบ้านเมืองในแต่ละพื้นที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันในรูปแบบของแคว้นหรือรัฐขนาดเล็ก ที่มีเมืองใหญ่เป็นศูนย์กลาง และแต่ละแคว้นต่างก็เป็นอิสระไม่อยู่ตรงต่อกันในทางการปกครอง แต่ส่วนมากจะมีความสัมพันธ์กันในทางเรืองญาติและเกี่ยวข้องในทางการค้า ในเขตภาคเหนือตอนบนที่เรียกกันว่าอาณาจักรล้านนา ซึ่งหมายรวมถึง 8 จังหวัดภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน และรวมถึงดินแดนบางส่วนของประเทศพม่า ประเทศจีน และประเทศลาวซึ่งแคว้นที่สำคัญๆ ที่ปรากฏอยู่ได้แก่ แคว้นหริภุญไชยลำพูน แคว้นโยนก แคว้นพะเยา แคว้นน่าน ซึ่งมีลักษณะทางภูมิศาสตร์ ประกอบด้วยภูเขา เนินเขา และที่ราบอันอุดมสมบูรณ์ซึ่งเชื่อกันว่า ลักษณะภูมิประเทศและประวัตศาสตร์อันยาวนานของล้านนาไทยนั้นมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อการทอผ้าพื้นบ้านของเมืองเหนือ อันมีเอกลักษณ์เป็นของตนเองโดยเฉพาะกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในล้านนาไทยแต่เดิมคือกลุ่ม ไทยลื้อ ไทใหญ่ ไทยเขิน ไทลาว แต่ชนกลุ่มใหญ่ที่สุด คือ ไทยวน หรือไทยโยนกซึ่งในภายหลัง แม้จะโยกย้ายไปตั้งภูมิลำเนาถิ่นฐานใดก็จะนำวัฒนธรรมการทอผ้าไปปรากฏอยู่ด้วยเสมอ (ลักษณะของผ้าทอที่มีลวดลายต่างๆ สวยงามแตกต่างกันไปตามศิลปวัฒนธรรมของแต่ละชนเผ่าซึ่งมีกรรมวิธีการผลิตและการใช้ลวดลายตลอดจนสีสันต่างๆ บนเนื้อผ้าตามอิทธิพลที่ได้รับมาจากบรรพบุรุษ ขนบธรรมเนียมความเชื่อถือ และวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต ตลอดจนค่านิยมในสังคมที่สืบทอดกันมา)

เอกสารอ้างอิง
  • ผ้าทอพื้นเมือง โครงการสำรวจผู้ผลิตทั่วประเทศ มหาวิทยาลัยศิลปากร
  • ขวัญเมือง จันทโรจนี ลักษณะทางวัฒนธรรม ความเชื่อและชาติพันธ์ : ภาคเหนือตอนล่าง เอกสารการสัมมนา ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคเหนือตอนล่าง

วันอาทิตย์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2557

โครงการ Digitized Lanna




Digitized Lanna เป็นโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ภายใต้กรอบแนวคิดของโครงการ Digitized Thailand โดยเริ่มทำการพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับออกแบบลวดลายทอผ้าด้วยเทคนิคต่างๆ ในพื้นถิ่นภาคเหนือครอบคลุมทั้งผ้ายก ผ้าจก ผ้าขิด และผ้ายกดอก จากนั้นทำการศึกษาและเก็บรวบรวมลวดลายทอผ้าโบราณจากภูมิปัญญาพื้นบ้านล้านนานำมาแปลงให้อยู่ในรูปแบบไฟล์ของโปรแกรมออกแบบดังกล่าว และพัฒนาฐานข้อมูลเฉพาะทางเพื่อเก็บไฟล์ต้นแบบพร้อมทั้งรายละเอียดของลวดลาย เช่น ชื่อลาย ประวัติ ความหมาย ลักษณะการใช้งาน เป็นต้น เพื่อให้ผู้สนใจสามารถนำไปศึกษาถึงแนวทางการออกแบบลายทอผ้าของคนล้านนาโบราณ และเพื่อให้นักออกแบบรุ่นใหม่สามารถนำเอาต้นแบบลวดลายรวมถึงเรื่องราวของลวดลายมาประยุกต์ใช้ในงานออกแบบร่วมสมัยได้ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อเผยแพร่ข้อมูลสำหรับใช้ศึกษาการออกแบบลวดลายผ้าตามภูมิปัญญาได้อย่างถูกต้อง และนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มทางภูมิปัญญาและคงความเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมได้อย่างถูกต้องต่อไป

การใช้ผ้าและการแต่งกายของชาวล้านนาในอดีต



จากหลักฐานที่ปรากฏในภาพจิตรกรรมฝาผนังหลายๆแห่งในภาคเหนือได้สะท้อนให้เห็นถึงการแต่งกายของชาวล้านนาในสมัยโบราณได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะภาพจิตรกรรมฝาผนังอย่างน้อยจำนวน ๔ แห่ง ซึ่งได้แก่ ที่วิหารน้ำแต้ม วัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง ซึ่งนับเป็นฐานของงานจิตกรรมล้านที่เก่าแก่ที่สุดประมาณว่าเขียนขึ้นในราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๒ วิหารลายคำ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ วิหารวัดภูมินทร์ อำเภอเมือง และวิหารวัดหนองบัว อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน เป็นต้น การแต่งกายของผู้คนที่ปรากฏในภาพจิตกรรมเหล่านั้นทำให้ทราบว่า กษัตริย์และเจ้านายชั้นสูงจะนุ่งผ้าโจงกระเบนหยักรั้ง ถกสูงขึ้นไปจนเห็นรอยสักที่ขา มีผ้าคล้องคอห้อยไหล่ไม่สวมเสื้อ หรือสวมเสื้อคอเปิด แขนกระบอก มีทั้งโพกผ้าและไม่โพกผ้าไว้มวย และทำผมเกล้าโน้มมาข้างหน้าอย่างมอญ ซึ่งรอยสักนั้นผู้ชายชาวล้านนาในอดีตจะนิยมกันมาก การสักในภาษาท้องถิ่นเรียกว่า สับหมึก คือ การสักยันต์ด้วยหมึกดำเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยหนุ่ม โดยสักตั้งแต่เอวลงมาถึงเข่าหรือต่ำกว่าเข่าเล็กน้อย ส่วนผู้ชายชาวบ้านทั่วไปจะนุ่งหนักรั้งไปสูงถึงโคนขาเห็นรอยสักที่ขา มีผ้าคาดเอวปล่อยชายห้อยไว้ข้างหน้า ที่ผ้านุ่งเรียกว่า ผ้าต้อย เป็นลักษณะผ้าผืนสี่เหลี่ยมที่ใช้ผ้าฝ้ายสีพื้น หรือมีลายดำสลับขาที่เรียกว่า ผ้าตาโก้ง ผ้าต้อยมีสองขนาด คือ ขนาดสั้น และขนาดยาว ถ้าขนาดสั้นนิยมนุ่งแบบ เค็ดหม้าม หรือ เก๊นหม้าม คือ ม้วนชายผ้าเป็นเกลียวสอดระหว่างขาให้รัดกุมแบบเดียวกับนุ่งถกเขมร โชว์ลายสับหมึกให้เห็นชัด ถ้าเป็นผ้าขนาดยาวก็จะนุ่งแบบโจงกระเบน สำหรับส่วนบนของร่างกายจะเปลือยอก และในเวลามีงานหรือในโอกาสพิเศษจะมีผ้าพาดบ่าที่เรียกว่า ผ้าเช็ด ส่วนในเวลาหน้าหนาวก็จะมี ผ้าตุ๊ม คือ ผ้าฝ้ายทอเส้นใหญ่หนาๆใช้ห่มคลุมตัวกันทั้งหญิงและชาย

ผู้หญิงชั้นสูงจะนุ่งซิ่นยาวกรอมเท้า เป็นซิ่นลายขวางลำตัว ตีนซิ่นมีลายตีนจก แต่สำหรับผู้หญิงที่เป็นชาวบ้านทั่วโดยทั่วไปจะนุ่งผ้าซิ่นลายขวางกรอมเท้า เรียกว่า ซิ่นต่อตีนต่อเอว เป็นซิ่นสีพื้น มีลายสีเข้ม เช่น สีแดง สีส้ม และสีดำ เป็นลายขวางสลับเป็นริ้วขวางลำตัว ที่เชิงซิ่นทั้งที่เป็นแถบสีส้ม สีแดงเป็นแถบใหญ่ๆไม่มีลวดลายตีนจก ที่เรียกว่า ซิ่นตำ ผู้หญิงในสมัยโบราณนั้นจะไม่สวมเสื้อ เพราะโดยทั่วไปแล้วการเปลือยอกของผู้หญิงเป็นเรื่องธรรมดาเช่นเดียวกับผู้ชาย แต่จะมีเพียงผ้าสีอ่อนใช้พันรอบอก หรือใช้ผ้าคล้องคอ ห้อยสองชายลงมาข้างหน้าปิดส่วนอก หรือห่มเฉียงแบบสไบ ที่เรียกว่า สะหว้ายแล่ง หรือ เบี่ยงบ้าย ในเวลาปกติแล้วผู้หญิงจะนุ่งซิ่นต่อตีนสีแดงดำ แต่ในเวลาไปวัดหรือในโอกาสพิเศษจะนุ่งซิ่นต่อตีนหรือเชิงด้วย ตีนจก เป็นลวดลายงดงามพิเศษ ลักษณะของตีนจกของชาวไทยวนหรือชาวล้านนาในแต่ละแห่งจะมีลวดลาย การเล่นสีรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของตน เช่น ตีนจกแบบเจ้านายในคุ้ม ตีนจกแบบสันป่าตอง จอมทอง ฮอด ดอยเต่า แม่แจ่ม ตีนจกแบบเมืองลอง ตีนจกแบบลำปาง และตีนจกแบบเมืองน่าน เป็นต้น นอกจากนี้ ทั้งหญิงและชายในสมัยโบราณจะนิยมเจาะหูใส่ ลาน คือ ต่างหูขนาดใหญ่มีลักษณะเป็นกระบอกทำด้วยเงินหรือทองคำม้วน ใช้เสียบเข้า จึงทำให้รูที่เจาะมีขนาดใหญ่ด้วย

อย่างไรก็ตามการแต่งกายของชาวล้านนาได้เริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากลักษณะพื้นเมืองหรือพื้นถิ่นมากขึ้น เมื่อได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองของล้านนาจากการเป็นประเทศราชมาเป็นมณฑลพายัพในราชการที่ ๕ ได้มีการรับเอาค่านิยม และรูปแบบการแต่งตัวจากภาคกลางและต่างประเทศเข้ามาในหัวเมืองฝ่ายเหนือมากขึ้น ดังนั้น ผู้ชายชาวล้านนาโดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ในเมืองจะนิยมสวมเสื้อและกางเกง ซึ่งเสื้อที่ใช้นั้นจะเป็นเสื้อคอกลมแบบจีน ที่ชาวไทใหญ่หรือเงี้ยวนำเข้ามา ลักษณะเสื้อของผู้ชายที่เริ่มสวมใส่กันในล้านนายุคแรกนั้น จะเป็นเสื้อคอกลม แขนสั้น หรือแขนยาวต่อแขนต่ำ ผ่าหน้าตลอด ผูกเชือก มีกระเป๋าปะทั้งสองข้าง เย็บด้วยผ้าฝ้ายสีขี้ตุ่น หรือย้อมสีหม้อห้อม อีกแบบหนึ่งคือ เสื้อครึ่งอกติดกระดุมหอยสองเม็ด จะมีกระเป๋าหรือไม่มีก็ได้

ในส่วนของกางเกงนั้น ผู้ชายจะสวมกางเกงจีนของไทใหญ่ ซึ่งมีลักษณะเป็นกางเกงเป้ายาวทรงหลวม ตัดเย็บจากผ้าฝ้ายสีขี้ตุ่นหรือย้อมสีหม้อห้อม มี ๒ ขนาด คือ ขนาดขาสั้นครึ่งหน้าแข้ง ชาวเชียงใหม่เรียกกันว่า เตี่ยวสะดอ ซึ่งมีความหมายว่า ขนาดกึ่งกลาง และขนาดขายาวถึงข้อเท้า ในปัจจุบันกางเกงแบบนี้ทั้งสองขนาดจะถูกเรียกรวมไปว่า เตี่ยวสะดอ แต่มีบางท้องถิ่น เช่น ที่เมืองน่านเรียกว่า เตี่ยวสามดูก เพราะเย็บสามตะเข็บและที่เมืองแพร่บางทีก็นิยมเรียกกันว่า เตี่ยวกี การแต่งกายของชาวบ้านโดยทั่วไปเวลาทำงานในไร่สวนท้องนาก็จะสวมเสื้อเก่าๆ ที่ย้อมสีดำหม้อห้อมและเตี่ยวสะดอครึ่งแข้ง

ส่วนผู้หญิงก็จะนิยมสวมเสื้อผ้าฝ้ายคอกลมหลวมๆ แบบจีน แขนสามส่วน สีอ่อนเหมือนผู้ชาย แต่ยังคงนุ่งซิ่นแบบโบราณอยู่ การใช้สะไบก็จะใส่ทับลงไปบนเสื้ออีกทีหนึ่ง เวลาไปงานพิธี เกล้าผมสูงแบบโบราณ สับหวีทัดดอกไม้แล้วแต่โอกาส

ต่อมาในสมัยรัชการที่ ๖ พระราชชายาเจ้าดารารัศมี พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้นำเอาเสื้อแขนหมูแฮมแบบยุโรปและเสื้อคอยะวามาใช้ในคุ้มเชียงใหม่ ใส่กับซิ่นไหมลายพม่าที่เรียกว่า ซิ่นลุนตยา อะชีค ต่อตีนจกยกดิ้นแบบเชียงใหม่และแบบเชียงตุง เกล้าผมทรงญี่ปุ่น ซึ่งเป็นที่นิยมกันทางยุโรปสมัยนั้น ปักด้วยดอกไม้ไหวทองคำใส่ต่างหูเพชรและเครื่องประดับแบบตะวันตก รูปแบบการแต่งกายเช่นนี้ได้แพร่หลายไปในกลุ่มชนชั้นสูงในมณฑลพายัพเท่านั้น แต่ผู้หญิงชาวบ้านธรรมดายังคงสวมเสื้อคอกลม ซึ่งลักษณะเสื้อของผู้หญิงที่นิยมใส่ในสมัยนี้จะเป็นเสื้อผ้าฝ้ายคอกลม สีขาว ตัวหลวมแขนกระบอกต่อต่ำ ผ่าอกตลอด ผูกเชือกหรือติดมะต่อมแต๊บ (กระดุมแป๊บ) มีกระเป๋าปะทั้งสองข้าง หรือเป็นเสื้อผ่าครึ่งอก ติดกระดุมสองเม็ด เสื้ออีกลักษณะหนึ่งก็คือ เป็นเสื้อรัดรูปเอวลอย แขนสามส่วน คอกลม ผ่าหน้าตลอด ผูกเชือก หรือติดกระดุมผ้าแบบจีบ ในยุคหลังลงมานิยมใช้ผ้าป่านมัสลินตัดเย็บ นอกจากนี้ ยังมีเสื้อลำลองทั่วไปอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นเสื้อเย็บแบบห้าตะเข็บ เย็บแบบพอดีตัว มีกระเป๋าปะ เวลาไปวัดก็นิยมห่มผ้าสะหว้ายแล่งทับเสื้ออีกทีและยังคงนิยมนุ่งซิ่นลายขวางและเกล้าผมแบบเดิมอยู่

ส่วนผู้ชายที่มีฐานะดีก็จะสวมกางเกงแพรจีนสีต่างๆ หรือแพรปังลิ้น (ผ้าซาติน) ใส่เสื้อคอกลมตัดเย็บด้วยผ้ามัสลินหรือผ้าป่าน ผ่าครึ่งอก ติดกระดุม ต่อแขนต่ำ มีกระเป๋าปะด้านหน้าตรงกลางตัวหรือมีกระเป๋าปะสองข้างก็ได้ สำหรับบรรดาเจ้านายจะนิยมใช้ผ้าไหมเย็บเสื้อ นุ่งโจงกระเบนผ้าไหมหางกระรอก หรือนุ่งเตี่ยวย้งซึ่งเป็นกางเกงเป้ายาวมากแบบเดียวกับกางเกงของชาวเขาเผ่าม้ง ในโอกาสพิเศษสวมเสื้อราชปะแตน สวมหมวกกะโล่ สำหรับผู้ชายพื้นบ้านชาวนาชาวสวนก็ยังคงนุ่งกางเกงและเสื้อเป็นผ้าฝ้าย จะสวมเสื้อสีขาวเวลามีงานพิธีและจะแสดงความคารวะหรือให้เกียรติอย่างสูงสุดด้วยการแต่ตัวสีขาวทั้งชุดเวลาออกงาน

ต่อมาการแต่งกายของชาวล้านนาได้มีเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มนยุคหลัวสงครามโลกครั้งที่ ๒ รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ส่งเสริมให้คนไททั่วประเทศแต่งกายแบบสากลนิยม ดังนั้น การแต่งกายของชาวล้านนาจึงเปลี่ยนแปลงมาเป็นดังเช่นทุกวันนี้

วิถีชีวิตกับการใช้ผ้าพื้นเมืองในล้านนา



การทอผ้าเพื่อใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของชาวล้านนาเป็นอย่างมาก เป็นงานที่ผู้หญิงแทบทุกคนจะต้องทำได้ เพราะความจำเป็นในการใช้สอยในครอบครัวเป็นกรอบบังคับอยู่ในอดีต การทอผ้าพื้นบ้านพื้นเมืองของล้านนานั้น จะทอขึ้นเพื่อประโยชน์ในการใช้สอยเป็นหลัก ซึ่งอาจแบ่งได้เป็นสองประเภทกว้างๆ คือ

  • ประเภทที่หนึ่ง เป็นผ้าทอขึ้นเพื่อใช้สอยในชีวิตประจำวัน ผ้าประเภทนี้จะไม่ให้ความสำคัญกับความประณีตงดงามนัก เช่น ผ้าซิ่นที่ชาวบ้านนุ่งทำงาน หรืออยู่กับบ้าน มักทอเป็นผ้าฝ้ายสีเรียบๆมีลวดลายง่ายๆมักมีสีพื้นเป็นหลัก เช่น สีพื้นดำหรือสีกรมท่า สลับด้วยลายขวางเป็นแถบสีแดงหรือสีส้ม เช่น ผ้าซิ่นเมืองแพร่ เป็นต้น หรือถ้าจะทอเป็นผ้าสำหรับตัดเสื้อที่ใช้ในงานประจำวันอย่างเสื้อหม้อห้อมก็จะเป็นผ้าเนื้อหยาบๆเพื่อความคงทน แล้วย้อมสีด้วยใบต้นคราม หรือต้นห้อม เป็นต้น นอกจากเครื่องนุ่งห่มแล้ว ผ้าที่ใช้สอยอย่างอื่น เป็นต้นว่า ผ้าขาวม้า ย่าม ผ้าห่ม ก็มักทออย่างเรียบๆ แต่บางท้องถิ่น ก็จะทำให้มีสีสดใสน่าใช้ก็มี
  • ส่วนผ้าอีกประเภทหนึ่ง เป็นผ้าทอไว้ใช้ในโอกาสพิเศษ เช่น ผ้าสำหรับนุ่งห่มหรือใช้ในงานทำบุญ งานนักขัตฤกษ์ และพิธีการสำคัญๆ อาจจะต้องใช้ผ้าที่มีความประณีตงดงามเป็นพิเศษ เพราะการทอผ้าประเภทนี้นอกเหนือจากต้องประกวดประชันกันในด้านความประณีตงดงามแล้ว ยังต้องสอดคล้องกับความเชื่อและขนบธรรมเนียมประเพณีของสังคมในกลุ่มชนนั้นด้วย ในโอกาสพิเศษเหล่านี้ผู้หญิงมักแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่มีลักษณะพิเศษ ซิ่นอาจเป็นซิ่นตีนจกที่มิเชิงหรือตีนทอเป็นลวดลายแบะสีสันงดงามเป็นพิเศษ

นอกจาการทอผ้าเพื่อใช้สอยโดยตรงแล้วชาวล้านายังใช้ผ้าและวัตถุที่ใช้ผ้า คือ เส้นด้าย มาเกี่ยวข้องสนองความเชื่อและงานประเพณีพื้นบ้านของตนด้วย เช่น การใช้ด้ายมาประดิษฐ์เป็นตุงหรือธงใช้ในประเพณีทานตุง หรือแม้ในงานพิธีศพก็ใช้ผ้าดิบสีขาวมาทำเป็นตุงสามหางถือนำหน้าศพ เพื่อที่จะช่วยนำวิญญาณของผู้ตายไปสู่สุขคติได้

ประเภทของผ้าทอแบบพื้นเมืองของชาวล้านนาซึ่งเป็นผ้าที่มีอยู่ในพื้นถิ่นที่สืบทอดมาแต่โบราณ และยังปรากฏมีการทอและใช้อยู่ในดินแดนล้านนาในทุกวันนี้ ซึ่งอาจจำแนกไปตามกรรมวิธีของการผลิตและวัสดุที่ใช้ดังต่อไปนี้
-->
  • ผ้ายกดอก การทอผ้ายกดอก หมายถึง การยกเส้นยืนเพื่อที่จะสอดเส้นพุ่ง เพื่อทำให้เกิดลวดลาย นิยมทอทั้งผ้าฝ้ายยก และผ้าไหมยก เส้นพุ่งนั้นอาจเป็นฝ้ายหรือไหมสีอื่น เพื่อทำลวดลายให้เกิดขึ้นหรืออาจใช้ดิ้นเงินดิ้นทองก็ได้ การทอผ้ายกมีขั้นตอนตั้งแต่การคัดเลือกเส้นใย การย้อมสี การขึ้นหูกลวดลาย จากนั้นจึงทำขั้นตอนของการทอ ซึ่งขึ้นอยู่กับความชำนาญ แบะความคุ้นเคยกับลายที่ทอ ลวดลายการยกดอกนิยมในกลุ่มตระกูลไทยวน ซึ่งใช้ในการทอผ้าห่ม เพราะทำให้เนื้อผ้าที่ทอหนาขึ้น เช่น ที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งทอหนาขึ้น เช่น ที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งทอผ้าห่มด้วยการยกตอกสี จะทอลายขนมเปียกปูน หรือลายดอกตะกอที่เรียกว่า ผ้าห่มตาแสง หรือผ้าห่มตะโก้ง ซึ่งใช้ฝ้ายสีแดง ดำ และขาว ทอทั้งเส้นยืนเส้นพุ่ง ทำให้เป็นลายตาราง ปัจจุบันการทอฝ้ายยกดอกที่เป็นที่รู้จักและนิยมกันมากจะเป็นการทอผ้าไหมยกดอก โดยเฉพาะผ้าไหมยกดอกลำพูน ซึ่งมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันทั่วไป การทอผ้าไหมยกดอกของลำพูนมีวิวัฒนาการลวดลายเพิ่มมากขึ้นและได้รับอิทธิพลจากราชสำนักมากขึ้น ลวดลายบางลวดลายปรับมาจากผ้าโบราณ หรือประดิษฐ์ขึ้นใหม่ เพิ่มความวิจิตรบรรจงและงดงามมากขึ้น แหล่งผลิตที่มีชื่อเสียงในปัจจุบันได้แก่ โรงทอคุ้มเจ้าหญิงส่วนบุญ โรงทอของคุณยายบัวผัน โนตานนท์ โรงทอห้าจันดี บ้านหลวย โรงทอป้าบุญศรี บุณยเกียรติ โรงทอผ้าสุวรีย์ และโรงทอผ้าเพ็ญศิริไหมไทย ซึ่งทั้งหมดอยู่ในเขตจังหวัดลำพูนทั้งสิ้น

  • ผ้าซิ่น คือ ผ้าที่เย็บเป็นถุงสำหรับผู้หญิงนุ่ง วิธีการนุ่งจะทบจากซ้ายไปขวา หรือจากขวาไปซ้ายก็ได้ โดยเหน็บชายพกไว้ตรงเอว ส่วนเชิงหรือตีนซิ่นจะเสมอกัน อีกวิธีหนึ่งคือ ทบทั้งข้างซ้ายและขวาเข้ามาอยู่ตรงกลาง ส่วนตรงเอวจะพับชายผ้าลงเพื่อเหน็บไว้ไม่ให้หลุดผ้าซิ่นมีความสำคัญ เพราะเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงสถานภาพและแหล่งกำเนิดของกลุ่มชน ซึ่งดูได้จากโครงสร้างและลวดลายที่ปรากฏบนผืนผ้าชนแต่กลุ่มจะนุ่งผ้าซิ่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่มของตน ซึ่งทำให้ทราบได้ว่าแต่ละกลุ่มชนชาติพันธุ์กลุ่มใด มาจากหมู่ใด ส่วนรายละเอียดในการออกแบบโครงสร้างและลวดลายบนผืนผ้าซิ่นนั้น เพราะคนในหมู่บ้านเดียวกันจึงจะบอกได้ว่าแสดงหรือบ่งชี้ถึงสภาพของผู้นุ่งอย่างไรสำหรับผ้าซิ่นของชาวล้านนานั้นแม้ว่าจะมีหลายรูปแบบ แต่โดยส่วนรวมแล้วลักษณะโดยทั่วไปของซิ่นของชาวล้านนาจะมีรูปแบบที่เป็นแม่บทอันเดียวกันคือ ลายของตัวซิ่นจะทอเป็นลวดลายขวางกับตัว ซึ่งจะต่างไปจากซิ่นพื้นบ้านอีสานที่นิยมทอซิ่นที่มีลายเป็นทางขนานกับตัวผู้นุ่งเป็นซิ่นลายลง โครงสร้างของซิ่นโดยทั่วไปจะประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ส่วนเอว ส่วนกลาง และส่วนตีนซิ่น ซึ่งผ้าซิ่นของแต่ละกลุ่มชนก็จะมีความแตกต่างกันไปโดยจะมีเอกลักษณ์ของตนเอง สำหรับผ้าซิ่นที่พบมีในดินแดนล้านนาอาจแบ่งออกได้เป็น ๓ กลุ่มคือ
    • ผ้าซิ่นแบบไทยวน ผ้าซิ่นแบบไทยวนเป็นผ้าซิ่นแบบเย็บข้างเดียว มีลวดลายขวางบนตัวซิ่น ตีนซิ่นอาจเป็นพื้นธรรมดาสีแดงหรือสีดำ หรือเป็นตีนจกซึ่งจะมีลวดลายอยู่ตรงส่วนบนครึ่งท่อนของตีนซิ่น 
    • ผ้าซิ่นแบบไทลื้อ ผ้าซิ่นแบบไทลื้อเป็นผ้าซิ่นแบบเย็บสองตะเข็บ มีลวดลายขวางบนตัวซิ่น ตัวซิ่นไม่มีลวดลายตกแต่ง แต่ใช้ผ้าซิ่นผ้าพื้นสีความธรรมดา สีดำ หรือสีคราม และแดงเฉพาะในกลุ่มไทลื้อเมืองเงิน 
    • ผ้าซิ่นแบบลาว ผ้าซิ่นแบบลาวเป็นผ้าซิ่นแบบเย็บข้างเดียว ลวดลายบนตัวซิ่นเป็นลวดลายทางยาว หรือเป็นลายมุก ตีนซิ่นอาจเป็นผ้าพื้นธรรมดาหรือเป็นตีนจกซึ่งมีลวดลายเต็มตลอดผืนของตีนซิ่น

นอกจากการแบ่งประเภทของผ้าซิ่นไปตามลักษณะของกลุ่มชนแล้วผ้าซิ่นยังมีชื่อเรียกเฉพาะในแต่ละรูปแบบอีกด้วย ได้แก่
    • ซิ่นก่าน เป็นซิ่นของชาวไทลื้อเมืองน่าน ที่ทอด้วยลวดลายมัดหมี่หรือมัดก่าน หรือคาดก่าน
    • ซิ่นก่านกอความ เป็นซิ่นของชาวไทยวน จังหวัดแพร่ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ซิ่นแหล้ เป็นซิ่นดำมีริ้วสีแดงคาดตรงส่วนบนของตีนซิ่น 
    • ซิ่นกำเคิบ เป็นผ้าซิ่นเมืองน่านที่ทอด้วยดิ้นทองเป็นลวดขิดเต็มผืน เย็บแบบสองตะเข็บ บางที่เรียกว่า ซิ่นไหมคำเคิบ หรือซิ่นเคิบไหมคำ ตีนซิ่นอาจเป็นผ้าพื้นธรรมดา หรืออาจต่อด้วยตีนจกซึ่งก็นิยมจกด้วยดิ้นเช่นกัน 
    • ซิ่นเชียงแสน เป็นซิ่นเมืองน่าน มีลักษณะเป็นผืนผ้าสีแดงมีริ้วสีเข้ม เช่น สีดำ หรือครามเป็นลายขวาง ทอด้วยเทคนิคขัดสานธรรมดาเย็บแบบสองตะเข็บ  
    • ซิ่นตำ เป็นผ้าซิ่นไทลื้อแบบดั้งเดิม มีลักษณะเป็นลายขวางทอด้วยขัดสานธรรมดาเย็บแบบสองตะเข็บ ต่อส่วนเอวหรือหัวซิ่นแถะส่วนตีนซิ่นด้วยผ้าสีคราม  
    • ซิ่นตำมะนาว เป็นซิ่นของชาวไทยวน จังหวัดแพร่ เป็นซิ่นสีเหลืองมีริ้วลายขวางสีเข้ม เชิงดำ ครม หรือม่วงสลับ 
    • ซิ่นป้อง เป็นซิ่นของเมืองน่าน เย็บสองตะเข็บ ทอด้วยเทคนิคขีดเป็นลายขวางสลับริ้วสีพื้นมีช่วงขนาดของลายที่เท่ากันโดยตลอดคำว่า ป้อง อาจมาจากโครงสร้างของลายขวางเป็นปล้องๆ ซิ่นป้องเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ซิ่นคาเหล้ม  
    • ซิ่นเมืองลิน เป็นซิ่นของชาวไทลื้อ อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา อีกแบบหนึ่ง เป็นซิ่นลายขวาง ทอด้วยเทคนิคธรรมดา  
    • ซิ่นตีนจก เป็นซิ่นที่ต่อเชิงด้วยตีนจก ซึ่งผู้หญิงล้านนาแต่ดั้งเดิมจะใช้นุ่งในโอกาสพิเศษ 
    • ผ้าเช็ด คำว่า ผ้าเช็ด เป็นคำภาษาไทลื้อซึ่งใช้เรียกผ้าทอชนิดหนึ่ง แต่ไม่ได้เอามาใช้สอยสำหรับเช็ดส่วนต่างๆ ของร่างกาย ผ้าเช็ดเป็นลักษณะเป็นผืนผ้าสี่เหลี่ยม ใช้วิธีการทอด้วยการขิดหรือจกเป็นลวดลายต่างๆ หลากหลายแบบ เราอาจแบ่งผ้าเช็ดออกได้เป็น ๓ ขนาด คือ 
      • ผ้าเช็ดหลวง เป็นผ้าชนิดหนึ่งซึ่งพบเฉพาะในกลุ่มไทลื้อลักษณะเป็นผืนขนาดยาวประมาณ ๒-๓ เมตร กว้างประมาณ ๑๕-๓๐ ซม. รูปลักษณะคล้าย ตุง มาก ชาวไทลื้อจะทำผ้าเช็ดหลวงนี้ถวายวัดเช่นเดียวกับการุวายคุง โดยแขวนไว้ในวิหาร สิ่งที่เป็นของแตกต่างระหว่างผ้าเช็ดหลวงกับตุง ก็คือ ลวดลายผ้าเช็ดหลวงนั้นจะไม่มีไผ่คั่นเป็นปล้องๆ และไม่มีลวดลายรูปปราสาทแบบผ้าตุง ลวดลายบนผ้าเช็ดหลวงจะใช้วิธีการเก็บขิดด้วยไม้ค้ำเป็นช่วงๆไป จนกระทั่งถึงครึ่งหนึ่งของความยาวของงผืนผ้าที่ต้องการก็จะยกดอกช่วงหนึ่ง แล้วย้อมกลับทอลวดลายเดิมด้วยวิธีดึงไม้ค้ำออก ทอมาจนสุดความยาวของปลายผ้าอีกด้านหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ลวดลายจึงถูกกำหนดด้วยเทคนิคการทอให้ซ้ำกันจากปลายผ้าทั้งสองข้างไล่ลำดับช่วงมาสู่ตรงกลางผืนผ้าที่เป็นลายยกดอก ผืนผ้าเช็ดหลวงจะเป็นผ้าฝ้ายสีขาว สีที่เด่น ก็คือ สีดำและแดง ลวดลายในแต่ละช่วงจะเป็นรูปคน สัตว์ ดอกไม้ และเรขาคณิต 
      • ผ้าเช็ด เป็นผ้าผืนยาวประมาณ ๑ – ๑.๕๐ เมตร กว้างประมาณ ๑๕ – ๔๐ ซม. เป็นผ้าที่ใช้สำหรับตกแต่งร่างกายในโอกาสพิเศษ ชาวไทลื้อจะใช้เฉพาะสำหรับผู้ชายพาดไหล่เวลาไปวัด หรือไปงานฉลองพิธีกรรมต่างๆ โดยวิธีการพาดจะพับ ๒ – ๓ ทบให้ผ้าหน้าแคบลงพอดีกับไหล่ และพับด้านยาวให้เหลือครึ่งหนึ่ง ใช้พาดบนไหล่ซ้ายหรอขวาก็ได้ ผ้าเช็ดของชาวไทลื้อที่สิบสองพันนาและที่พบในประเทศไทย จะมีลักษณะเป็นผ้าฝ้ายสีขาวทอด้วยวิธีการขิด รูปแบบเดียวกับผ้าเช็ดหลวงส่วนผ้าเช็ดของชาวไทลื้อที่เมืองเงิน ประเทศลาว ตลอดจนที่พบในหมู่บ้านชาวไทลื้อเขตตำบลปอน อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน จะมีลักษณะพิเศษ คือเป็นผ้าทอด้วยวิธีการขิดปละจกสลับสีต่างๆ โดยส่วนใหญ่จะทอด้วยฝ้ายและไหมผสมกัน บางผืนมีดิ้นเงินดิ้นทองสลับด้วย ลวดลายส่วนใหญ่จะเป็นลายเรขาคณิต มีโครงสร้างเหมอนกับผ้าเช็ดหลวง มีบางปืนเป็นผ้าไหมถ้วน จะมีโครงสร้างคล้ายกับผ้าเบี่ยง ของชาวไทยวนในประเทศลาว 
      • ผ้าเช็ดน้อย เป็นผ้าฝ้ายสีขาวขนาดเล็ก กว้างประมาณ ๑๕ ถึง ๒๐ ซม. ยาวประมาณ ๒๐ – ๓๐ ซม. มีลายขิดขนาดเล็กเป็นริ้วตรงชาย ผ้าสองข้าง ใช้เป็นผ้าเช็ดหน้า และชาวไทลื้อที่สิบสองพันนาจะใช้ตกแต่งครัวทาน ถวายพระ 
ชาวไทยวนไม่นิยมทอผ้าเช็ด ไม่ว่าจะเป็นผ้าชนิดใด แต่เราจะพบผ้าพาดไหล่ของชาวไทยวนที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียวใหม่ ที่มีลักษณะการตกแต่งลวดลายขิดขนาดเล็กตรงเชิงผ้าคล้ายคลึงกับผ้าเช็ดน้อยขางชาวไทลื้อ นอกจากนี้เราจะพบว่าเวลาไปวัดชาวไทยวนทั้งผู้หญิงและผู้ชายจะนิยมใช้ผืนผ้าสีขาวตกแต่งร้างกายเป็นพิเศษ โดยผู้ชายจะใช้พาดไหล่แบบเดียวกับการพาดผ้าเช็ดของชาวไทลื้อ ส่วนผู้หญิงจะนิยมห่มแบบเฉียงที่เรียกว่าห่มแบบสะหว้ายแล่ง หรือเบี่ยงบ้ายซึ่งปัจจุบันนี้มักเป็นผ้าที่ซื้อหาจากตลาดมิได้ทอขึ้นใช้เองดังแต่ก่อน

    • ผ้าหลบ (ผ้าปูที่นอน) ผ้าหลบก็คือผ้าปูที่นอน ซึ่งใช้ปูทับลงบนฟูกหรือสะลีอีกทีหนึ่ง ผ้าหลบของชาวไทยวนโดยทั่วไปจะเป็นผ้าฝ้ายสีชาวทอจัดสานธรรมดา ใช้ฟืมขนาดเล็ก คือ มีหน้ากว้างประมาณ ๔๐ – ๖๐ ซม. ดังนั้นจึงนิยมทอสองผืน แล้วนามาเย็บต่อกลางเพื่อให้มีขนาดพอเหมาะแก่การปูบนฟูกได้พอดี ผ้าหลบ ของชวาไทลื้อและของชาวไทยวนในบางแห่งซึ่งได้รับอิทธิพลการห่อผ้าจากไทลื้อ จะมีลักษณะเด่นอยู่ที่การทอลายขิดตกแต่งลวดลายขิดบนผ้าหลบซึ่งเกิดจากเส้นพุ่งนี้จะนิยมใช้เส้นผ้ายสีแดงสลับสีครามดำ อาจมีเพียง ๑ – ๒ แถวเฉพาะตรงส่วนของเชิงผ้า หรือบางผืนอาจทอลวดลายขิดจนเกือบเต็มผืนผ้าหลบ เหลือเพียงส่วนที่เป็นผ้าพื้นสีขาวเฉพาะตรงส่วนบนเท่านั้น ลักษณะโครงสร้างของผ้าหลบไทลื้อส่วนใหญ่ก็คือตรงชายผ้าจะรวบเส้นฝ้ายกัดเป็นตาข่าย จากส่วนถักนี้ขึ้นไปนะเป็นส่วนช่วงผ้าพื้นสีขาว เรียกว่า ป้าน ก็จะเป็นลายขิดที่เรียกว่า สายย้อย ซึ่งมีลักษณะเป็นลายเส้นตรงเป็นแถวเรียงกันคลล้ายกับลายของเชิงผ้าซิ่นตีนจก ถัดจากลายสายย้อย ก็จะเป็นลายขิดต่างๆ เป็นแถวๆ สลับช่วงสีพื้นเล็กๆ ไปเรื่อยๆ มีทั้งลายขิดพื้นฐานขนาดเล็กและลายที่เกิดจากการคิดประดิษฐ์ผสมผสานลายพื้นฐานจนเป็นลายขนาดใหญ่ สำหรับลายพื้นฐานที่พบอยู่เสมอก็คือ ลายขอเล็ก ขอใหญ่ ขอขะแจ๋ (แปลว่า กุญแจ) ลายกาบ ลายหน่วย ลายเครือ ลายดอกจัน ลายนาค ลายนกหรือหงส์สายช้าง ลายม้า และลายคน ฯลฯ

ปัจจุบันนี้ชาวไทลื้อในสิบสองพันนาและในล้านนาบางแห่งได้รับอิทธิพล จากการใช้วัสดุสมัยใหม่คือใช้ไหมพรมในการทอลายขิด บนผ้าหลบทำให้มีสีสันหลากสีขึ้น แต่ก็ทำให้คุณค่าของวามงามของผ้าทอพื้นบ้านด้อยลง

    • ผ้าปูหลบ (ผ้าปูพื้น) ชาวไทลื้อลาวไทยวนเรียกผ้าชนิดหนึ่ง ที่ใช้ปูนอนคล้ายคลึงกับผ้าหลบว่า ผ้าแหลบ ผ้าแหลบเป็นผ้าที่ใช้ปูกับพื้นได้เลย มิได้ปูลงบนสะลีเช่นผ้าหลบ ลักษณะผ้าแหลบนี้เป็นผ้าฝ้ายีขาวทอด้วยลายขิดจนเต็มผืน เป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนสีดำแดง หรือเป็นสีดำแล้วจกด้วยไหมสีเหลืองตรงในกลางชองรูปสี่เหลี่ยม มีขนาดผืนผ้าแคบกว่าผ้าหลบครึ่งหนึ่ง (คือ จะใช้ผ้าทอจากฟืมเดียวไม่ต้องต่อกลาง ๒ ผืนเช่นผ้าหลบ) มีผ้าสีแดงขลิบริมโดยรอบ บางครั้งจะมีผ้าพื้นสีดำเย็บซ้อนติดกันอีกชั้นหนึ่ง ผ้าชนิดนี้ใช้สำหรับปูนอนในระหว่างการเดินทางและสำหรับผู้เฒ่าผู้แก่หรือพระสงฆ์ปูนอนที่วัด ผ้าแหลบนี้เรียกกันเป็นหลายชื่อตามแต่ลักษณะ ขนาด และการใช้สอย เช่นเรียกว่า ผ้าเติ้ม ผ้านอนถ้าหากใช้ รองนั่งก็มักจะมีขนาดสั้นครึ่งหนึ่งของผ้านอนนี้ เรียกว่า ผ้านั่ง ใช้เป็นอาสนะของสงฆ์หรือฆาราวาสใช้ปูนั่งในวิหารเวลาฟังเทศ
    • ผ้าหลบหัวช้าง ผ้าอีกลักษณะหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับ ผ้าแหลบมาก ก็คือ ผ้าที่ใช้ปูหัวช้าง ชาวไทลื้อเรียกว่า ผ้าล้อหัวช้าง ลักษณะของผ้าหลบหัวช้างล้านนาจะมีขนาด ๕๐ X ๑๕๐ ซม. ใช้ผ้าสีแดงขลิบโดยรอบ ใช้เทคนิคการทอทั้งยกดอก ชิด และจกสลับสีสดใส ปัจจุบันผ้าชนิดนี้มิได้ใช้ปูบนหลังช้างแล้ว ยังคงเหลือใช้เฉพาะสำหรับเป็นของมอบให้ญาติผู้ใหญ่ในพิธีแต่งงานเทานั้น เรียกว่า ผ้าล้อ หรือผ้านอน 
    • ผ้าห่ม คือผ้าที่ใช้ห่มร่างกายให้ความอบอุ่น ซึ่งมีทั้งผ้าที่ใช้ห่มคลุมในเวลาปกติ และใช้ห่มในเวลานอน เนื่องจากฟืมพื้นเมองจะมีขนาดหน้าแคบคือกว้างประมาณ ๖๐ ซม. ดังนั้น ผ้าห่มจึงมีลักษณะใช้ผ้าสองผืนเย็บเพาะด้านข้างต่อกัน เพื่อให้มีความกว้างประมาณ ๑๒๐ ซม. ความยาวประมาณ ๒๐๐ ซม. พอเหมาะแก่การห่มคลุม ผ้าห่มที่พบใช้ในถิ่นล้านนา จะมีอยู่ ๓ ลักษณะ คือ 
      • ผ้าห่มตาแสง หรือผ้าห่มตาโก้ง เป็นผ้าฝ้ายทอลายยกดอกโดยใช้เขา ๓ – ๘ เขา สีที่นิยมคือ สีดำ แดง ขาว ซึ่งสลับสีทั้งเส้นพุ่งและเส้นยืน ทำให้เกิดเป็นลายตาลางสีเหลี่ยม ลางผืนก็มีเฉพาะสีดำสลับชาวหรือสีแดงสลับขาว หรือสีขาวทั้งผืน มีริ้วสีดำ เฉพาะเส้นยืนตรงริมผ้าสองช้าง ผ้าที่ใช้ห่มคลุมตัวในเวลาปกติจะมีขนาดราว ๑๒๐ x ๒๐๐ ซม. เรียกว่า ผ้าตุ๊ม (แปลว่า คลุม) ส่วนผ้าที่ใช้ห่มเวลานอนเรียกว่า ผ้าต้วบมักจะทอให้ขนาดยาวอีกเท่าตัวคือราว ๔๐๐ ซม. แล้วทบเย็บหัวท้ายติดกัน ทำให้ผ้ามีความหนาสองชั้นสามารถให้ความอบอุ่นมากขึ้น ลักษณะผ้าห่มชนิดนี้ใช้กันทั่วไปในล้านนา ทั้งในกลุ่มชาวไทยวน ไทลื้อ และลาว 
      • ผ้าห่มของไทลื้อ ที่เป็นเอกลักษณ์แบบตั้งเดิมก็คือผ้าห่มที่ทอด้วยลายขิดทั้งผืน เป็นลายทางยาวเรียกว่า ลายงูลอย สลับ ลายหน่วยเครือ ผืนผ้าเป็นสีขาว ส่วนลวดลายขิดเป็นสีแดงหรือสีดำครามผ้าห่มชนิดนี้ถ้าใช้ห่มเวลานอนจะมีผ้าผืนสีชาวซ้อนอีกชั้นหนึ่ง โดยเย็บเฉพาะส่วนเชิงด้านบนติดกัน ทำให้ผ้ามีความหนาสองชั้น ให้ความอบอุ่นมากขึ้น 
      • ผ้าห่มลาว เป็นผ้าห่มชนิดที่มีลวดลายจกและขิดตรง ส่วนเชิงข้างเดียว ผืนผ้าทอด้วยวิธียกดอก ใช้ฝ้ายเส้นใหญ่หรือฝ้าย ๒ - ๓ เส้นทอทำให้ผ้ามีความหนาและนิยมใช้สีแดง ดำ และชาวในการทอ

นอกจากนี้ยังมีผ้าที่ทอโดยชนกกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆ ซึ่งกระจัดกระจายอยู่เป็นอันมากจนอาจถือได้ว่าเป็นประชาชนส่วนหนึ่งของล้านนาด้วย ผ้าที่ผลิตโดยชนกลุ่มน้อยนี้มีรูปแบบและกรรมวิธีที่แตกต่างกันไปตามคตินิยมและขนบธรรมเนียมและประเพณีของตน ได้แก่ ผ้าของชาวกะเหรี่ยง ม้ง อีก้อ เย้า ลีซอ มูเซอดำ มูเซอแดง ปะหร่อง เป็นต้น ตลอดจนสิ่งชองเครื่องใช้ที่เป็นผ้า ซึ่งเป็นผ้าที่ใช้วิธีการทอ รูปร่างลักษณะ ลวดลาย ตลอดจนเทคนิคการทอก็เป็นสิ่งสำคัญ ที่เสดงออกถังเอกลักษณ์ในแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ด้วย เช่น ถุงย่าม ตุงผ้าทอ และผ้าห่อคัมภีร์ เป็นต้น ซึ่งในที่นี้จะไม่กล่าวถึงในรายละเอียด


เทคนิคการทอผ้าของชาวล้านนา




ดินแดนล้านนาหรือภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยนั้น เป็นดินแดนที่พบสิ่งทอหรือผ้าทอแบบพื้นถิ่นพื้นเมืองอยู่ค่อนข้างมากและมีความหลากหลายแตกต่างกัน ทั้งนี้ เนื่องด้วยมีกลุ่มชนหลายเผ่าพันธุ์อาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้ ทั้งที่อาศัยอยู่มาแต่โบราณกาล และเพิ่งอพยพเข้ามา โดยมีพื้นที่อาศัยอยู่ทั้งพื้นที่ราบและในเขตภูเขา อาทิ ไทยวน (คนเมือง) ไทลื้อ ลาว ไทใหญ่หรือเงี้ยว กะเหรี่ยง มอญ ลัวะ ตลอดจนชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆ เช่น ม้ง เย้า อีก้อ ลีซอ มูเซอ เป็นต้น ดังนั้น ผ้าทอพื้นถิ่นพื้นเมืองที่พบในดินแดนล้านนาจึงมีรูปแบบ เทคนิค ลวดลาย แตกต่างกันไปตามท้องถิ่นและลักษณะชาติพันธุ์ของกลุ่มชนเหล่านั้น ซึ่งผ้าทอเหล่านั้นล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการสร้างสรรค์ภูมิปัญญา และลักษณะของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ อย่างไรก็ดี ความแตกต่างของผ้าทอต่างๆเหล่านั้น ซึ่งผ้าทอเหล่านั้นล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการสร้างสรรค์ภูมิปัญญา และลักษณะของแต่ละชาติพันธุ์ อย่างไรก็ดี ความแตกต่างของผ้าทอต่างๆ เหล่านั้น ส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องอยู่ที่เทคนิคที่ใช้ในการทอผ้าแต่ละชนิด ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจในผ้าทอพื้นถิ่นพื้นเมืองในแต่ละชนิด ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเทคนิคการทอผ้าแบบต่างๆ ที่พบมีใช้อยู่ในดินแดนล้านนาต่อไป ดังนี้

  • มัดหมี่ เป็นศัพท์เทคนิค ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า lkat ซึ่งเดิมเป็นภาษาอินโดนีเซีย มัดหมี่ หมายถึง ลวดลายที่ปรากฏบนผืนผ้าหลังจากการมัดลานที่ด้ายพุ่งด้วยเชือก ก่อนนำไปย้อมสี ซึ่งจะทำให้เกิดลวดลายตามที่ต้องการที่ด้ายเส้นพุ่งก่อนนำไปทอเป็นผืนผ้าเทคนิคนี้รู้จักกันกว้างขวางในกลุ่มชนที่เรียกว่า ไท- ลาว ซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณตอนกลางของที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง นอกจากนั้นยังพบว่ามีไทลื้อกลุ่มหนึ่งในจังหวัดน่านยังคงใช้เทคนิคมัดหมี่สำหรับผ้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งชาวไทลื้อกลุ่มนี้จะเรียกเทคนิคนี้ว่า มัดก่าน หรือ คาดก่าน จะนิยมทอลายมัดหมี่นี้สลับกับการทอลายขิด ทั้งลวดลายและการทอสลับขิดเช่นนี้คล้ายคลึงกับกลุ่มชนไทเหนือที่อาศัยอยู่ในแถบแขวงซำเหนือทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศลาว 
  • จก เป็นเทคนิคการทำลวดลายบนผืนผ้าด้วยวิธีการเพิ่มเส้นด้ายเส้นพุ่งพิเศษเข้าไป เป็นช่วงๆไม่ติดต่อกันตลอดหน้ากว้างของผ้า กระทำโดยใช้ไม้หรือขนเม่น หรือนิ้วมือยกหรือจกด้ายเส้นยืนขึ้น แล้วสอดใส่ด้ายเส้นพุ่งพิเศษเข้าไป คนบางกลุ่มใช้เทคนิคนี้ทำลวดลายบนผ้าโดนคว่ำหน้าของผ้าลงกับกี่ เช่น การทอจกที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เทคนิคนี้กลุ่มชนตระกูลไทรู้จักกันดี และใช้ทอทั้งในการทอผ้าฝ้ายและผ้าไหม
  • ขิด เป็นเทคนิคการทำลวดลายบนผืนผ้าด้วยวิธีการเพิ่มด้ายเส้นพุ่งพิเศษเข้าไป เช่นเดียวกับการจก แต่ลายขิดท่าติดต่อกันตลอดหน้ากว้างของผ้า กระทำโดยใช้ไม้ค้ำ (shed sticks) หรือเขาที่ทำพิเศษ (string heddles) นอกจากเขาที่ทอแบบธรรมดา ในการทำลวดลายขิดจากไม้ค้ำสามารถทำให้เกิดลวดลายได้สองครั้ง ครั้งแรกในขณะที่ไม้ค้ำสอดใส่เข้าไปในเส้นยืน และครั้งที่สองในขณะที่ดึงไม้ค้ำออก ส่วนการที่จะให้เส้นพุ่งผ่านไปได้นั้นต้องใช้ไม้ดาบ (blade) ซึ่งเป็นไม้แบนยาวสอดผ่านเส้นยืนเข้าไปแล้วพลิกทางเส้นไม้ขึ้น สำหรับการทำลวดลายจากเขา ทำให้ประหยัด เวลาและทุ่นแรงมาก แต่ข้อจำกัดคือ สามารถทำให้เกิดลวดลายแบบธรรมดาๆ เท่านั้น ซึ่งต่างไปจากการใช้มือ ลวดลายที่เกิดขึ้นจากการใช้เขาขึ้นอยู่กับจำนวนและตำแหน่งของเขาที่ใช้ กลุ่มคนในตระกูลไทจะใช้เทคนิคการทอผ้าด้วยเขาเป็นสองระบบ คือ
    • ระบบแรก ใช้เขาที่ทำจากเชือกหลายอัน แต่ละอันผูกติดกันกับแถบไม่ที่โยงฟืมและเขา (heddle rod) ในขณะทอเมื่อผู้ทอจะใช้เขาอันไหนก็นำเชือกที่ผูกอยู่ไปเกี่ยวกับไม้ตะกอ (treadles) ระบบนี้พบใช้ในกลุ่มไทลื้อ ในอำเภอเชียงของ แต่ไทลื้อส่วนใหญ่จะใช้ระบบของไม้ค้ำ (shed sticks)
    • ระบบที่สอง ใช้เขาหลายอันแขวนไว้กับแนวดิ่ง หรือที่รู้จักกันว่าเขาเก็บขิด (vertical heddles) ผู้ทอใช้ไม้ขิดเสียบเข้าไปในเชือกของเขาเก็บขิดเช่นเดียวกับที่ใช้ไม้ค้ำกับเส้นด้ายยืน วิธีการนี้สามารถทำให้เกิดลวดลายต่างๆ ได้หลายครั้ง ในระหว่างการทอไม้เก็บขิดที่แขวนเรียงอยู่จะถูกทยอยใช้ อันที่ใช้แล้วจะถูกนำไปแขวนข้างใต้ด้ายเส้นยืน แล้วก็จะทำลายซ้ำกันโดยวิธีเดียวกัน คือนำไม้เก็บขิดกลับขึ้นไปข้างบนอีก ระบบนี้ค่อยข้างจะยากในการทำลวดลาย จำเป็นต้องใช้ผู้ช่วยอีกสองคนในการช่วยยกเขาเก็บขิด ระบบนี้พบใช้กันมากในภาคอีสาน
      • ยกดอก เป็นเทคนิคการทำลวดลายซึ่งเกิดจากวิธีการยกเขาแยกเส้นยืนขึ้นลง แต่ไม้ได้เพิ่มเส้นด้ายเส้นพิเศษเข้าไปในผืนผ้า เช่น การจก หรือ การขิด ลายยกดอกต่างๆที่ปรากฏนั้นมีทั้งลายสาม-แปดตะขอ (Twill) ลายก้างปลา (Zherring-bone wave) และลายขัดสอง (basket wave) การยกดอกในบางครั้งจะมีการเพิ่มด้ายเส้นพุ่งจำนวนสองเส้นหรือมากกว่านั้นเข้าไป หรือเพิ่มดิ้นเงินดิ้นทองเข้าไป ซึ่งจะทำให้ได้ลวดลายเหมือนกันมากกับลวดลายที่เกิดจากเทคนิคการจกและการขิด เราจะสามารถบอกความแตกต่างได้ก็ต่อเมื่อมีการตรวจสอบอย่างใกล้ชิดเท่านั้น ในลวดลายที่เกิดจากเทคนิคการจกและการขิดนั้น ด้ายเส้นพุ่งพิเศษที่เพิ่มเข้าไปสามารถดึงออกได้โดนไม่ทำให้เนื้อผ้าเสียหาย แต่ในกรณีของการยกดอกจะทำให้เกิดผลตรงข้าม ลวดลายการยกดอกรู้จักกันดีในกลุ่มชนตระกูลไท ซึ่งใช้เทคนิคนี้ในการใช้ทอผ้าห่ม เพราะทำให้เนื้อผ้าที่ทอหนาขึ้นเหมาะสมกับการใช้งาน ไทยวนที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ใช้เทคนิคการทอผ้าด้วยการยกดอกสี่ตะกอลายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน (a diamond pattered twill) ซึ่งคล้ายกันมากกับผ้าห่มของพวกไทยทวน ในล้านนาสีที่ใช้จะเป็นสีแดง หรือสีดำ และสีขาวเป็นลายตาราง (a chequer design) สลับกันไปทั้งผืน
      • เกาะ หรือ ล้วง วิธีเกาะเป็นเทคนิคการทอที่ไม่ได้เส้นด้ายพุ่งสอดใส่จากริมผ้าด้านหนึ่งไปสู่ริมผ้าอีกด้านหนึ่งตามวิธีการทอแบบธรรมดาทั่วไป และไม่ใช้วิธีการทอโดยเพิ่มด้ายเส้นพุ่งพิเศษเข้าไปในเนื้อผ้า เช่น เทคนิคการจก แต่การทอแบบ เกาะ เป็นการใช้ด้ายเส้นพุ่งหลายๆสี เป็นช่วงๆ ทอด้วยเทคนิคธรรมดาโดยการเกี่ยวและผูกเป็นห่วง (hook and dove-tail) รอบด้ายเส้นยืนเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับเนื้อป้า ลวดลายที่ละเอียดและซับซ้อนก็สามารถทำได้ด้วยเทคนิคนี้
      • มุก เป็นเทคนิคการทออีกวิธีหนึ่งซึ่งปัจจุบันใช้กันอยู่น้อยมากกลุ่มชนที่ยังใช้เทคนิคนี้ ได้แก่ ไทแดง และไทพวน ที่อาศัยอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศลาว รวมถึงกลุ่มที่อพยพมาอยู่แถวเมืองเวียงจันทร์ และภาคเหนือของประเทศไทยด้วย วิธีทอใช้เทคนิคการเพิ่มเส้นยืนเข้าไปในเนื้อผ้า โดยการเตรียมด้ายเส้นยืนพิเศษไว้ตอนบนของกี่เหนือด้ายเส้นยืนธรรมดาที่ขึงไว้ ลวดลายบนผืนผ้าที่เกิดจากเทคนิคนี้คล้ายกันมากกับลวดลายที่เกิดจากเทคนิคการขิดและจก อาจจะทำให้เข้าใจผิดได้ง่าย ถ้าหากเกิดการสับสนในทิศทางของด้ายเส้นยืน กลุ่มไทลื้อในอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา และชาวไทลื้อในเขตจังหวัดน่าน เรียกลวดลายที่เกิดจากการขิดนี้ว่า ลายมุก ซึ่งอาจทำให้สับสนลวดลายมุกของที่อื่นๆ ลายมุกของกลุ่มไทแดงนั้นแตกต่างจากลวดลายมุกของกลุ่มไทพวน โดยไทแดงนิยมทำลายใหญ่ๆ ใช้สีเขียวอมฟ้าอ่อน และนิยมทอลายมุกผสมผสานกับลายจก ขิด และมัดหมี่บนผ้าซิ่นผืนเดียวกัน ส่วนไทพวนนิยมทอลายมุกขนาดเล็กด้วยสีขาว

       

      เครื่องทอผ้าของชาวล้านนา




      เครื่องทอผ้าของชาวล้านนา ในภาษาท้องถิ่นเรียกว่า “กี่” สมัยเดิมทีเดียว ลักษณะของกี่หรือหูก จะเป็นรูปอย่างง่ายๆ คือ มีไม้สำหรับผูกด้ายเส้นยืนหัวท้ายสองอัน เวลาจะทอก็จะใช้มือหรือไม้พาดด้ายพุ่งเข้าไปร้อยขัดกับเส้นด้ายยืน ต่อมาได้พัฒนามีการสร้างที่ยกด้ายเส้นยืนขึ้นลงโดยใช้เท้า ใช้กระสวยเป็นเครื่องมือพุ่งด้ายไปตามรางกระสวย แต่การพุ่งกระสวยยังคงใช้มือตามปกติ การใช้หูกหรือกี่ทอผ้านั้นทำให้ได้ผลงานรวดเร็วกว่าและง่าย ทำให้ได้ผ้าหนากว้าง ซึ่งต่อมาได้มีการพัฒนาเครื่องทอผ้าให้ดีขึ้น สามารถทอได้ผ้าที่ทอมีคุณภาพมากขึ้นตามลลำดับ จนกระทั่งกลายเป็นเครื่องจักรทอผ้าที่ใช้ในโรงงานทอผ้าในทุกวันนี้

      สำหรับในพื้นถิ่นล้านนานั้นเครื่องมือและอุปกรณ์ในการทอผ้า มีส่วนประกอบต่างๆของเครื่องมือเครื่องใช้ในกระบวนการทอผ้า ซึ่งมีชื่อเรียกในภาษาพื้นเมืองล้านนา ดังนี้
      • อุปกรณ์ในการเตรียมด้าย ประกอบด้วย
        • เครื่องหีด เป็นเครื่องรีดเมล็ดฝ้ายและฝ้ายให้แตกเป็นเส้นใย
        • เครื่องโว้น เป็นเครื่องกรอเส้นด้าย
        • ไม้อ้อ เป็นแกนไม้กลางกระสวย ถอดแยกออกจากกันได้ ใช้พันด้ายสำหรับทอ
      • ส่วนประกอบของเครื่องมือทอผ้าที่เรียกว่า กี่ มีดังนี้
        • ฟืม เป็นไม้ซี่สำหรับตีกระทบด้ายเส้นนอนที่ได้สอดสานให้แน่นสนิท
        • เขาย่ำ สำหรับใส่ด้ายเส้นยืนเขาของกี่พื้นเมืองล้านนามี ๑ คู่
        • ขอบฟืม เป็นไม้ให้จับขอบฟืมได้สะดวก
        • กระสวย สำหรับบรรจุด้ายเส้นพุ่ง
        • ม้านั่ง เป็นที่นั่งในการกรอ
        • เขารอก ติดระหว่างม้านั่งและเขาย่ำใช้ดึงเขาขึ้นๆลงๆ ฃ
        • ม้าย่ำ คือ แผงไม้พันด้ายเป็นช่องผ่านของเส้นยืนมายังไม้กำพั่น
        • ไม้กำพั่น คือ แกนไม่ข้างหน้าม้านั่ง ใช้ม้วนผ้าที่ทอแล้ว
        • เชือกดึง คือ เชือกดึงเขา ม้าย่ำ เขารอก ไว้กับโครงกี่ และกี่พบใช้ในการทอผ้าในดินแดนล้านนาจะมีอยู่ ๒ ประเภท คือ
        • กี่เอว (Back trap) กี่ชนิดนี้จะมีวิธีการทอผ้าด้วยการมัดด้ายเส้นยืนไว้กับต้นไม้หรือเสาไม้ และดึงมามัดติดกับเอว แล้วขึงให้ตึงโดยใช้ตัวคนทอดึงให้ตึงขณะทอ กี่ชนิดนี้เป็นกี่แบบง่ายๆและโบราณมาก ปัจจุบันพบว่ายังมีการใช้ในชนกลุ่มน้อย เช่น ชาวกะเหรี่ยง ม้ง เป็นต้น
        • กี่ทอตั้ง หรือ หูก (Standing loom) เป็นกี่โครงไม้คล้ายรูปสี่เหลี่ยม มีเสาสี่มุม ซึ่งเป็นกี่ถาวรมากกว่า มีขนาดใหญ่ ซึ่งจะขึงด้ายเส้นยืนในกี่นี้ พบโดยทั่วไปในกลุ่มไทยวน ไทลื้อ และลาวโดยทั่วไป
          โดยทั่วไปแล้วในปัจจุบันการทอผ้าจะมีเทคนิคที่เหมือนๆกัน กล่าวคือ เมื่อม้วนด้ายเข้าผูกกี่แล้ว จะเอาไม้สองอันเข้าไปขนาบตรงที่เส้นด้ายไขว้ขัดกัน แล้วดึงด้ายมาร้อยตะกอจนหมด แล้วสอดเข้ากับฟืมผูกกับไม้ทางคนนั่ง ให้ตะกอผูกติดกับไม้สำหรับเหยียบให้ตะกอขึ้นลง เมื่อเหยียบตะกอด้วยขาขวา ให้พุ่งกระสวยไปทางซ้าย ถ้าเหยียบตะกอด้วยขาซ้ายให้พุ่งกระสวยไปทางขวา เมื่อพุ่งกระสวยไปมาแล้ว ต้องกระทบฟืม ๑-๒ ครั้งเสมอ จะทำเช่นนี้จนเสร็จเป็นผืนผ้า

          ดินแดนล้านนา


          ดินแดนล้านนาหรือภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยนั้น เป็นดินแดนที่พบสิ่งทอหรือผ้าทอแบบพื้นถิ่นอยู่ค่อนข้างมากและมีความหลากหลายแตกต่างกัน ทั้งนี้ เนื่องด้วยมีกลุ่มชนหลายเผ่าพันธุ์อาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้ ทั้งที่อาศัยอยู่มาแต่โบราณกาล และเพิ่งอพยพเข้ามา โดยมีพื้นที่อาศัยอยู่ทั้งพื้นที่ราบและในเขตภูเขา อาทิ ไทยวน (คนเมือง) ไทลื้อ ไทลาว ไทใหญ่หรือเงี้ยว กะเหรี่ยง มอญ ลัวะ ตลอดจนชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆ เช่น ม้ง เย้า อีก้อ ลีซอ มูเซอ เป็นต้น ดังนั้น ผ้าทอพื้นถิ่นที่พบในดินแดนล้านนาจึงมีรูปแบบ เทคนิค และลวดลาย แตกต่างกันไปตามท้องถิ่นและลักษณะชาติพันธุ์ของกลุ่มชนเหล่านั้น ซึ่งผ้าทอเหล่านั้นล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการสร้างสรรค์ภูมิปัญญา และลักษณะของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์